ข้อแนะนำการใช้สารผลิตลำไยนอกฤดู


การใช้สารผลิตลำไยนอกฤดูโดยการหว่านทางดิน และการพ่นทางใบ
ข้อแนะนำสำหรับเกษตรผู้ที่จะผลิตลำไยนอกฤดูกาล

ผลิตลำไยนอกฤดู
การใช้สารทางดินและการพ่นทางใบสามารถใช้ได้กับลำไยทุกพันธุ์  อัตราที่แนะนำ อยู่ที่ประมาณ 5-10 กรัม / ตารางเมตรของทรงพุ่ม สำหรับการคำนวณวัดทรงพุ่ม 2 ด้านทำได้ง่ายๆ เช่น ทรงพุ่มด้านหนึ่งได้ 4 เมตร และอีกด้านได้ 4 เมตร ดังนั้น ความกว้างของทรงพุ่มต้นลำไยเท่ากับ 4 X 4 คือ 16 เมตร
เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ต้องใช้สาร 5-10 กรัม/ตารางเมตร คือ 5X16 = 100 กรัม (1 ขีด) และ 10x16 = 160 กรัม (1.6) ขีด

การหว่านสารภายในทรงพุ่มแล้วให้น้ำตาม 
โดยเกษตรกรผู้ปลูกลำไย อาจทำเป็นร่องรอบทรงพุ่ม แล้วให้สารในร่อง แล้วให้น้ำตาม หรืออาจทำเป็นร่องรอบทรงพุ่มก็ได้ ต้องมีการใส่ถุงมือและรองเท้าบู้ทในการราดสาร

การใช้สารผลิตลำไยนอกฤดูโดยการพ่นทางใบ 
คามเข้มข้นของสารที่ใช้ คือ 1-2 กรัม/น้ำ 1 ลิตร  หรือ 10-20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ต้องเป็นสารที่ไม่มีการผสมสารอื่น และไม่ต้องมีการผสมสารใดในการพ่นไม่ควรใช้สารในปริมาณที่สูงกว่านี้ หากใช้ในปริมาณสูงอาจทำให้ลำไยใบไหม้และร่วงได้ จากการทดลองพ่นเพียงครั้งเดียวก็สามารถทำให้ลำไยออกดอกได้ แต่ถ้าจะให้มีการออกดอกเพิ่มมากขึ้นก็ควรพ่น 2 ครั้ง 

ข้อควรรู้ในการพ่นสารผลิตลำไยนอกฤดู
1.ควรพ่นในตอนเช้า หรือในช่วงอากาศไม่ร้อน เพราะหากพ่นในช่วงอากาศร้อนอาจทำให้เกิดอาการใบไหม้ และถ้ามีฝนตก 1-2 วัน หลังจากพ่นแล้วควรพ่นสารใหม่อีกครั้ง
2.ควรพ่นในช่วงที่ต้นลำไยมีใบแก่เท่านั้น เพราะหากพ่นในใบอ่อน ลำไยอาจออกดอกไม่ดี คือช่อที่แตกออกมาจะมีการพัฒนาใบก่อนแล้วแตกดอกตาม อาจทำให้ช่อดอกสั้น และการพ่นควรพ่นให้โดนส่วนของปลายยอดลำไยให้มากที่สุด เพราะจะเป็นจุดที่มีการออกดอก
3.ก่อนพ่นสารเคมีควรสมชุดป้องกันให้มิดชิด และหลังพ่นควรทำความสะอาดร่างกายและชุดที่สวมใส่ให้เรียบร้อย

ข้อควรรู้ในการใช้สารผลิตลำไยนอกฤดู

เทคนิคผลิตลำไยนอกฤดู

ผลิตลำไยนอกฤดู
สำหรับเกษตรกร ผู้ที่จะผลิตลำไยให้ติดดดอกออกผลนอกฤดูกาลนั้น ต้องรู้หลักสำคัญใน 5 ข้อนี้ก่อนครับ

หลักสำคัญในการใช้สารผลิตลำไยนอกฤดู 


1.ต้นลำไยต้องมีความสมบูรณ์
เกษตรกรผู้ที่จะทำการผลิตลำไยนอกฤดูต้องบำรุงต้นลำไยให้มีความสมบูรณ์หลังจากเก็บผลผลิต ต้องทำการตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นลำไย ก่อนการใช้สารโปแทสเซียมคลอเรต โดยใช้ต้นลำไยมีการแตกช่อใบไม่น้อยกว่า 2 – 3 ครั้ง การผลิตลำไยนอกฤดูต้องคำนวณระยะเวลาตั้งแต่ให้สารเคมีจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย

2.ต้องมีแหล่งน้ำให้ต้นลำไย
มีน้ำสำหรับให้ต้นลำไยในช่วงหลังจากมีการให้สารโปแสเซียมคลอเรต โดยเฉพาะในช่วงดอกเริ่มบานและติดผล ถ้าขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วงและผลร่วงทำให้การติดผลน้อย ถ้าในช่วงแล้งหรือฝนทิ้งช่วงต้องมีการให้น้ำ และถ้ามีการใส่ปุ๋ยเคมีก็ต้องให้น้ำตาม

3.ต้นลำไยจะต้องอยู่ในสภาพใบแก่
อายุของใบลำไยต้องอยู่ในระยะใบแก่จัด คือ หลังจากแตกใบอ่อนประมาณ 45-60 วัน จะเป็นระยะที่ได้ผลดีที่สุด ถ้าเป็นระยะใบอ่อนจะทำให้ออกดอกน้อย หรือถ้าพ่นทางใบจะทำให้ใบอ่อนไหม้และร่วง

4.ก่อนการใช้สารจะต้องงดให้ปุ๋ยต้นลำไย
ก่อนการใช้สารโปแทสเซียมคลอเรต ไม่ว่าจะเป็นพ่นทางใบหรือให้ทางดิน จะต้องงดการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเคมี ในช่วงก่อนการใช้สารผลิตลำไยนอกฤดู ควรใส่ในช่วงที่ลำต้นลำไยมีการแทงช่อดอกแล้ว

5.สารที่ใช้ในการผลิตลำไยนอกฤดูจะต้องมีความบริสุทธิ์สูง
จะต้องตรวจสอบสาร เพราะถ้าเป็นสารผสมจะใช้ในอัตราที่แนะนำไม่ได้ หรือถ้าเป็นการพ่นทางใบจะทำให้เตรียมสารลำบาก เพราะจะทำให้ไม่ทราบว่าใช้สารอะไรผสม หรือผสมในอัตราเท่าไหร่ และจะส่งผลให้หัวพ่นอุดตันด้วย

การผลิตลำไยนอกฤดู


เทคนิคผลิตลำไยนอกฤดูกาล

ลำไยในประเทศไทย ส่วนใหญ่พื้นที่การผลิตอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศ ในอดีตการปลูกลำไยมีปัญหาที่สำคัญคือ การออกดอกติดผลไม่สม่ำเสมอของต้นลำไยเอง บางปีมีการออกดอกและติดผลมาก บางปีมีการออกดอกและติดผลน้อย หรือมีการออกดอกและติดผลแบบปีเว้นปี และเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกเองสูญเสียรายได้ต่อปีเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องการออกดอกของลำไยสามารถแก้ไขได้ โดยการใช้สาร โปแทสเซียมคลอเรต เพื่อกระตุ้นหรือชักนำการออกดอกของลำไย โดยเฉพาะในแหล่งผลิตลำไยที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และพะเยา หรือในแถบจังหวัดตาก กำแพงเพชร และจันทบุรี

การผลิตลำไยนอกฤดูกาล สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

1.การผลิตลำไยนอกฤดู โดยการใช้ลำไยสายพันธุ์ทะวาย
เกษตรกรสามารถผลิตลำไยนอกฤดูกาลได้ โดยการปลูกลำไยพันธุ์ที่มีการออกดอกติดผลนอกฤดูกาล เช่น ลำไยพันธุ์เพชรสาคร เป็นลำไยสายพันธุ์ที่สามารถออกดอกตลอดปี ปลูกมากแถบภาคกลาง ที่ อ.บ้านแพร้ว จ.สมุทรสาคร ออกดอกและติดผล 2 รุ่น รุ่นแรกออกในช่วงเดือน ธันวาคม – มกราคม เกี่ยวเกี่ยวผลผลิตลำไยได้ในเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน และรุ่นที่สอง มีการออกดอกในเดือนกรกฎาคม – เดือนสิงหาคม สามารถเก็บผลผลิตลำไยได้ในเดือน ธันวาคม - เดือนมกราคม เป็นลำไยที่มีผลมีขนาดปานกลาง เนื้อค่อนข้างแฉะ มีกลิ่นค่อนข้างแรง รสชาติหวานจัด เมล็ดค่อนข้างใหญ่ แต่ปัจจุบันได้พบลำไยที่ปลูกจากเมล็ดจำนวนหนึ่งที่กลายพันธุ์ และสามารถออกดอกนอกฤดูได้ เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และขอนแก่น

2.การผลิตลำไยนอกฤดู โดยการใช้สารเคมี
ปัจจุบันปัญหาเรื่องการออกดอกไม่สม่ำเสมอของลำไยสามารถแก้ไขได้แล้ว โดยการใช้สาร โปแทสเซียมคลอเรต (Potassium chlorate) ไปกระตุ้นหรือชักนำการออกดอกของลำไย โดยเฉพาะในแหล่งผลิตลำไยที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา และจันทบุรี ซึ่งวิธีการใช้ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ก็คือ นำสารโปแทสเซียมคลอเรตละลายในน้ำ แล้วราดภายในทรงพุ่ม เสร็จแล้วให้น้ำตาม หรือจะพ่นทางใบ วิธีใดวิธีหนึ่งก็สามารถกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ภายใน 21-35 วัน

ข้อควรรู้ในการใช้สาร โปแทสเซียมคลอเรต (Potassium chlorate)

โปแทสเซียมคลอเรต (KCLO3) สามารถละลายน้ำได้และละลายในสารเช่น กลีเซอร์รอลและแอลกอฮอล์ ลักษณะเป็นผลึกใสไม่มีสี อาจเป็นผงขาวหรือเม็ดสีขาว คุณสมบัติเป็นของแข็งและเป็นตัวเติมออกซิเจนที่รุนแรงมาก สามารถระเบิดได้เมื่อทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถัน สามารถติดไฟและระเบิดได้เมื่อนำไปรวมกับสารอนินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น กำมะถัน ฟอสฟอรัส ซัลไฟด์ ปุ๋ยยูเรีย น้ำตาลทราย เกลือแอมโมเนียเกือบทุกชนิด และสารตัวเติมออกซิเจนอื่นๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารผสมดังกล่าวข้างต้น

การป้องกัน หนอนเจาะขั้วผลลำไย

หนอนเจาะขั้วผลลำไย

หนอนเจาะขั้วผลลำไย
จะมีไข่สีเหลืองครีม และมีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้แว่นขยาย ตัวหนอนชนิดนี้จะเจาะทำลาย ยอดอ่อน ดอก และผลของลำไยโดยตรง  พบการทำลายรุนแรงเมื่อเปลี่ยนสีจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ทำให้ผลร่วง  หนอนโตเต็มที่ขนาดตัวยาว 1.0 - 1.5 เซนติเมตร สีครีมปนเขียว คล้ายดักแด้ในรังดักแด้ที่ใบแก่ ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดเล็ก เมื่อหุบปีกลตัวยาว 6 - 8 มิลลิเมตร หนวดยาวกว่าลำตัว ปีกสีน้ำตาล มีลวดลายซิกแซกขาวสลับทองและดำ เคลื่อนไหวรวดเร็วชอบหลบใต้ใบที่หนาทึบ ช่วงระยะเวลาระบาด จะอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม

การป้องกันกำจัด หนอนเจาะขั้วผลลำไย
1. เก็บผลลำไยที่ร่วง นำไปทำลายนอกแปลงปลูกให้หมด
2. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย ควรตัดแต่งกิ่ง แล้วนำไปเผาเพื่อทำลายดักแด้

อ้างอิงจาก:กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร ส่วนส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมการเกษตร
http://agritech.doae.go.th/agri-media

การป้องกัน มวนลำไย

การป้องกัน มวนลำไย ที่จะมาทำลายผล และยอดอ่อนลำไย

ศัตรูลำไย
มวนลำไย จะวางไข่และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเกือบดำเมื่อใกล้ฟัก และจะวางไข่บนช่อดอก หรือ ผลอ่อน กลุ่มละ14 ฟอง ตัวอ่อนมีลำตัวสีแดง ริ้วลายขาวสลับดำ หรือตัวเต็มวัยสีน้ำตาลอ่อน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เมื่อได้รับการกระทบกระเทือนจะปล่อยสารที่มี กลิ่นเหม็นฉุนออกมาทำลายยอดอ่อน ช่อดอก และ ผลอ่อน ทำให้ยอดอ่อนหรือช่อดอกแห้งใบอ่อนและผลอ่อนเป็นแผลมีจุดสีดำอ่อน ช่วงระยะเวลาที่ระบาด ช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม

การป้องกันกำจัด มวนลำไย
1. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย ควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อป้องกันมวนลำไยหลบซ่อนข้ามฤดู
2. เก็บไข่และตัวอ่อนที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม นำไปทำลายเสียให้หมด
3. ถ้าสำรวจพบไข่ถูกแตนเบียนทำลายมาก ไม่จำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
4. ถ้าพบไข่จำนวนมาก แต่ไม่ถูกแตนเบียนทำลาย ทำการป้องกันกำจัดโดยใช้คาร์บาริล (85%ดับบลิวพี) 45 กรัม/น้ำ 20 ลิตร (แนะนำให้ใช้สารสกัดแนวชีวภาพ)

การป้องกัน ผีเสื้อมวนหวาน

การป้องกัน ผีเสื้อมวนหวานทำลายผลลำไย

ศัตรูลำไย
ลักษณะและการทำลายผลลำไย ผีเสื้อมวนหวาน เป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดปีกกว้าง 3 -5 เซนติเมตรปีก-คู่หน้าสีน้ำตาล คู่หลังสีเหลืองทอง มีลายรูปไตรหรือซีสีดำ ตาสีแดง สะท้อนแสงไฟ ผีเสื้อเจาะและดูดกินน้ำหวานจากผลลำไย มีน้ำไหลเยิ้มออกจากรูที่ถูกเจาะ เนื่องจากเชื้อโรคเข้าทำลาย ช่วงระยะเวลาที่ระบาดจะอยู่ในช่วงผลของลำไยแก่ ใกล้เก็บเกี่ยว หรือประมาณเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม

 การป้องกันกำจัด ผีเสื้อมวนหวาน

ศัตรูลำไย
1. ห่อช่อผลลำไยด้วยกระดาษเพื่อป้องกันการเข้าทำลาย
2. กำจัดวัชพืชรอบต้นลำไย ซึ่งเป็นพืชอาหารของหนอน เช่น ย่านาง ต้นข้าวสาร และบอระเพ็ด
3. ใช้ไฟส่องจับผีเสื้อทำลาย โดยใช้สวิงโฉบ (ช่วงเวลา 20.00 - 22.00 น.)
4. ช่วงผลลำไยแก่ใกล้เก็บเกี่ยวใช้เหยื่อพิษ โดยใช้สับปะรดสุกตัดเป็นชิ้นจุ่มในสารป้องกันศัตรูพืชนาน 1 นาที ไปแขวนในสวน (แนะนำให้ใช้สารสกัดแนวชีวภาพ)






ต้นลำไยเป็นโรคพุ่มไม้กวาด (โรคกะหรี่)

วิธีแก้ไข ต้นลำไยเป็นโรคพุ่มไม้กวาด (โรคกะหรี่)

โรคพุ่มไม้กวาด
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา เชื้อไฟโตพลาสมา หรือ มายโคพลาสมา
ลักษณะของต้นลำไยที่ติดเชื้อ ส่วนที่เป็นตาเกิดอาการแตกยอดฝอยเป็นมัดไม้กวาด หากเป็นรุนแรงทำให้ต้นลำไยทรุดโทรม ช่วงเวลาระบาด จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม โดยมวนไรลำไยเป็นพาหะนำโรค

การป้องกันกำจัด
1. ขยายพันธุ์ปลูกจากต้นแม่พันธุ์ลำไยที่ปลอดโรค
2. ตัดกิ่งลำไยที่เป็นโรคออก แล้วเผาทำลายในทันที
3. พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช (แนะนำให้ใช้สารสกัดแนวชีวภาพ)
4. พ่นสารป้องกันกำจัดไร ซึ่งเป็นพาหะของโรค (แนะนำให้ใช้สารสกัดแนวชีวภาพ)

ลำไยเป็นโรคผลเน่าสีน้ำตาล

ลำไยเป็นโรคผลเน่าสีน้ำตาล
วิธีแก้ไข ลำไยเป็นโรคผลเน่าสีน้ำตาลที่เกิดกับลำไย

ลำไยเป็นโรคผลเน่า
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา
ลักษณะของต้นลำไยที่ติดเชื้อ ผลลำไยจะเน่าแล้วร่วง มีแผลสีน้ำตาล ขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน ไม่พบเส้นใยและสปอร์ของเชื้อบนแผล ช่วงเวลาระบาดจะอยู่ในฤดูฝนช่วงที่มีตกชุก

การป้องกันกำจัด

1. ปฏิบัติเหมือนการป้องกันโรคผลเน่าและใบไหม้
2. พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช (แนะนำให้ใช้สารสกัดแนวชีวภาพ)

ต้นลำไยเป็นโรครากและโคนเน่า

วิธีแก้ไข ต้นลำไยเป็นโรครากและโคนเน่า

โรครากเน่าและโคนเน่า สาเหตุเกิดจากเชื้อรา ลักษณะของต้นลำไยที่ติดเชื้อ ต้นลำไยจะเหลืองทรุดโทรม รากและโคนต้นจะเน่า มีสีน้ำตาลปนม่วงและมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวต้นลำไยที่เป็นโรคจะยืนต้นแห้งตายอย่างรวดเร็ว  ช่วงเวลาระบาด จะเป็นฤดูฝน ช่วงที่มีฝนตกชุกติดต่อกันหลายวัน

การป้องกันกำจัดเชื้อรา ที่ทำให้ต้นลำไยเป็นโรครากและโคนเน่า


1. ปฏิบัติเหมือนการป้องกันกำจัดโรคผลเน่าและใบไหม้

2. หลีกเหลี่ยงการขุดดินภายใต้ทรงพุ่มของต้นลำไย ซึ่งจะทำให้รากลำไยขาดได้

3. หมั่นตรวจแปลงลำไยโดยสม่ำเสมอ และกำจัดต้นลำไยที่เป็นโรคทันที โดยขุดแล้วเผาทำลาย

4. ควบคุมโรคโดยชีววิธีโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์บาซิลลัส ผสมคลุกเคล้ากับดินในทรงพุ่มและผสมน้ำพ่นให้ทั่วต้นลำไยที่เป็นโรค และต้นลำไยที่อยู่ข้างเคียง

5. พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช (แนะนำให้ใช้สารสกัดแนวชีวภาพ)

ลำไยเป็นโรคราน้ำฝนหรือโรคผลเน่าและใบไหม้

ลำไยเป็นโรคราน้ำฝนหรือโรคผลเน่าและใบไหม้

วิธีแก้ไข ต้นลำไยเป็นโรคราน้ำฝนหรือโรคผลเน่าและใบไหม้

โรคราน้ำฝน หรือโรคผลเน่าและใบไหม้มักเกิดจากเชื้อรา คือจะมีลักษณะอาการ เมื่อเชื้อราเข้าทำลายที่ผลจะทำให้ผลเน่าและร่วง แผลมีสีน้ำตาล เข้าทำลายที่ใบอ่อน ยอดอ่อน จะเป็นแผลไหม้สีน้ำตาลดำ ขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน เชื้อราสร้างเส้นใย และสปอร์สีขาวฟูบนแผลที่ผลช่วงเวลาระบาด ฤดูฝนช่วงที่มีฝนตกชุก

การป้องกันกำจัดเชื้อรา ที่ทำให้ต้นลำไยเป็นโรคราน้ำฝนหรือโรคผลเน่าและใบไหม้

1. ปลูกลำไยให้มีระยะห่างที่พอเหมาะ ไม่ปลูกชิดเกินไป

2. ตัดแต่งภายในทรงพุ่มลำไยให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น และ
กำจัดวัชพืชภายใต้ทรงพุ่ม

3. บำรุงรักษาต้นลำไยให้เจริญเติบโตแข็งแรง โดยการใส่
ปุ๋ย ให้น้ำ ในช่วงที่อากาศแห้งแล้งและพ่นสารป้องกัน
กำจัดโรคพืชและสารฆ่าแมลงอย่างสม่ำเสมอ

4. เก็บผลและใบลำไยที่มีโรคซึ่งร่วงหล่นบนพื้นดิน
ภายใต้ทรงพุ่ม เผาทำลายนอกแปลงปลูก

5. ควบคุมโรคของลำไย โดยชีววิธี ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือ เชื้อ
แบคทีเรียปฏิปักษ์บาซิลลัส ผสมน้ำพ่นให้ทั่วทั้งต้น

6. พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช (แนะนำให้ใช้สารสกัดแนวชีวภาพ)

อ้างอิงจาก: กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร ส่วนส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมการเกษตร
http://agritech.doae.go.th/agri-media

การตัดแต่งกิ่งลำไยและควบคุมทรงพุ่ม

การตัดแต่งกิ่งลำไย และควบคุมทรงพุ่ม อย่างถูกวิธี

ตัดแต่งกิ่งลำไยให้โปร่งแสง
เทคนิคตัดแต่งกิ่งลำไย

1. ต้นลำไยอายุ 1-3 ปี ซึ่งยังไม่ให้ผลผลิต ควรตัดแต่งกิ่งต้นลำไย ให้มีลักษณะทรงพุ่มเป็นทรงกลม
2. ต้นลำไยอายุ 4-5 ปี ที่ให้ผลผลิตแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต คือ ตัดกิ่งกลางทรงพุ่มที่อยู่ในแนวตั้ง เหลือตอกิ่ง เพื่อเปิดกลางทรงพุ่ม ให้ต้นลำไยได้รับแสงสว่างมากขึ้น
3. ต้นลำไยอายุ 5 -10 ปี ควรตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ทรงพุ่มชนกัน การตัดแต่งก็เช่นเดียวกับลำไยอายุ 4 -5 ปี คือตัดปลายกิ่งทั้งแนวนอนและแนวตั้งให้มีความสูง เหลือเพียง 3 เมตร เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไป

การให้น้ำต้นลำไยอย่างถูกวิธี

การให้น้ำต้นลำไย มี 4 วิธี ด้วยกันคือ

ทำระบบน้ำหยดในสวนลำไย
การให้น้ำต้นลำไย
1. แบบใช้สายยางรด ลงทุนต่ำ แต่ต้องมีแหล่งน้ำและแรงงานเพียงพอ
2. แบบหัวเหวี่ยง เป็นการให้น้ำในกรณีมีแหล่งน้ำจำกัด แต่จะมีต้นทุนสูงกว่าแบบใช้สายยาง
3. แบบหัวเหวี่ยงขนาดเล็ก เหมาะสำหรับพื้นที่มีแหล่งน้ำจำกัดใช้แรงงานน้อย แต่ต้องมีการดูแลรักษาสูง
4. แบบน้ำหยด เหมาะสำหรับที่มีแหล่งน้ำจำกัดมาก แต่ต้นทุนก็จะสูงมากเช่นกัน

การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นลำไยอย่างถูกวิธี

การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นลำไย

การให้ปุ๋ยลำไย

1. ต้นลำไยอายุ 1-3 ปี หลังจากต้นแตกใบอ่อนชุดที่ 1 ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 100 กรัมต่อต้น ปีละ 3 ครั้ง และเพิ่มขึ้นปีละ 2 เท่าทุกปี

2. ต้นลำไยอายุ 4 ปี จะเริ่มแตกใบอ่อนประมาณต้นเดือนสิงหาคม ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น และเดือนพฤศจิกายน พ่นปุ๋ยเคมีสูตร 0-52-34 อัตรา 150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่มเพื่อไม่ให้ต้นลำไยแตกใบใหม่ พ่น 3 ครั้ง ทุก 7 วัน

3. สำหรับต้นลำไยที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุ 5 ปีขึ้นไป) หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีที่ผ่านมาใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อนของต้นลำไยชุดที่ 1 หลังจากนั้นประมาณเดือนกันยายนใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น เมื่อต้นลำไยแตกใบอ่อนชุดที่ 2 กลางเดือนตุลาคมใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-46-0 + 0-0-60 สัดส่วน 1:1 อัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อให้ต้นลำไยพักตัวและพร้อมต่อการออก และเมื่อต้นลำไยติดผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อบำรุงผลให้เจริญเติบโต และที่สำคัญ ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้มากขึ้น และหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น

อ้างอิงจาก: กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร ส่วนส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมการเกษตร
http://agritech.doae.go.th/agri-media

ลำไยพันธุ์แห้ว

ลำไยพันธุ์แห้ว จะออกดอกติดผลยากกว่าลำไยพันธุ์ดอ

ผลลำไยสายพันธุ์แห้งเนื้อหนาเม็ดเล็ก
ลำไยสายพันธุ์แห้ว
ลำไยพันธุ์แห้ว จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อต้นลำไยอายุ 4-5 ปีหลังการปลูก และจะออกดอกปลายเดือนมกราคม สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยพันธุ์แห้วได้ ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ลักษณะผลของลำไยค่อนข้างกลม ความกว้าง 2.8 เซนติเมตร ความหนา 2.7 เซนติเมตร และความยาวของผลลำไยจะอยู่ที่ 2.7เซนติเมตร สีน้ำตาล เนื้อกรอบสีขาวค่อนข้างใสรสหวานจัด กลิ่นหอม โดยส่วนมากจะนิยมบริโภคสด

ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว

ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว จะออกดอกและติดผลยาวกว่าลำไยพันธุ์สีชมพู

ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว 
ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว 
ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว คือลำไยพันธุ์นี้จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4-5 ปีหลังการปลูก จะออกดอกในเดือนมกราคม และเราสามารถเก็บผลผลิตของ ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวได้ ในเดือนสิงหาคม-กันยายน ลักษณะผลของลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว จะแบนและเบี้ยว ความกว้างของผล 3.0 เซนติเมตร ความหนา 2.6 เซนติเมตร และมีความยาว 2.8 เซนติเมตร สีของลำไยจะมีสีน้ำตาลอ่อนออกเขียวเล็กน้อย มีบ่าผล ไม่เท่ากัน เนื้อกรอบสีขาว ค่อนข้างใส รสหวานจัด กลิ่นหอม โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมบริโภคสด

ลำไยพันธุ์สีชมพู

ลำไยพันธุ์สีชมพู จะออกดอกและติดผลยากกว่าลำไยพันธุ์ดอ

ลำไยพันธุ์สีชมพู
ลำไยพันธุ์สีชมพู
จะออกดอกและติดผลยากกว่าลำไยพันธุ์ดอ แต่ผลผลิตของลำไยพันธุ์สีชมพู จะไม่สม่ำเสมอ คือเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4 ปีปลูก และจะออกดอกปลายเดือนมกราคม เริ่มเก็บผลผลิตปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ลักษณะผล ค่อนข้างกลม กว้าง 2.9 เซนติเมตร หนา 2.7 เซนติเมตร ยาว 2.7 เซนติเมตร สีน้ำตาลอ่อน เนื้อกรอบ สีชมพูเล็กน้อย สีเนื้อเข้มขึ้นเมื่อผลแก่จัด รสหวานจัด กลิ่นหอม ขนาดผลโดยเฉลี่ยของลำไยพันธุ์สีชมพู ใกล้เคียงกับลำไยพันธุ์ดอ โดยส่วนใหญ่แล้ว โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักนิยมบริโภคสด

ลำไยพันธุ์ดอ

ลำไยพันธุ์ดอ
ลำไยพันธุ์ดอ มีแหล่งปลูกที่ภาคเหนือตอนบน

ลำไยพันธุ์ดอ


ลำไยพันธุ์ดอ: มีแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน ออกดอกและติดผลง่ายกว่าพันธุ์อื่น แถมยังให้ผลผลิตค่อนข้างสม่ำเสมอ ลำไยพันธุ์ดอจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4 ปีหลังปลูก และจะออกดอกกลางเดือนมกราคม สามารถเก็บผลผลิตได้ ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ลำไยพันธุ์ดอ จะมีลักษณะผลค่อนข้างกลม คือ กว้าง 2.8 เซนติเมตร หนา 2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 เซนติเมตร สีน้ำตาลอ่อน บ่าผลยกข้างเดียว รสหวาน ผลลำไย โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 85-94 ผลต่อกิโลกรัม โดยมากมักนิยมบริโภคสด และนำมาแปรรูป

ลักษณะทั่วไปของลำไย

ลักษณะทั่วไปของลำไย
ลำไย 
เป็นไม้ผลที่นับได้ว่า เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งครับ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกหลายพันล้านบาทเลยทีเดียว
ลำไย
ลักษณะดินที่เหมาะในการปลูกลำไย

โดยส่วนมากแล้วลำไยจะชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ หรือมีแร่ธาตุมีสารอาหารสูง หรือดินร่วนปนทราย การระบายน้ำค่อนข้างดี ความลึกของหน้าดินที่เหมาะสมในการปลูกลำไย ควรมากกว่า 50 เซนติเมตร ระดับน้ำใต้ดินต้องมากกว่า 0.75 เมตร ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) 5.5-6.5 การเจริญเติบโตของต้นลำไย ต้องการอุณหภูมิช่วง 20-35 องศาเซลเซียส แต่ในระยะออกดอกของลำไย อุณหภูมิต้องต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,000 ลูกบาศก์มิลลิเมตรตลอดปี และมีการกระจายตัวของฝน

สำหรับลำไยพันธุ์ส่งเสริม จะมีอยู่ 4 สายพันธุ์ด้วยกันคือ

1.ลำไยพันธุ์ดอ
2.ลำไยพันธุ์สีชมพู
3.ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว
4.ลำไยพันธุ์แห้ว