เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง

เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนลำไย

ศัตรูลำไยจำพวกนี้สร้างความเสียหายให้ผลผลิตลำไยอย่างมาก โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดอ่อน ช่อดอก และผลลำไย หากระบาดรุนแรงจะทำให้บริเวณที่ถูกทำลายเหี่ยวแห้งไปในที่สุด นอกจากนี้แล้ว เพลี้ยทั้งสองชนิดนี้ยังขับของเหลวชนิดหนึ่งออกมา ซึ่งของเหลวชนิดนี้จะเป็นอาหารของมด และเป็นแหล่งอาหารของราดำอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่า หากราดำเกิดขึ้นที่ผลลำไยแล้ว จะทำให้ผลดูสกปรกไม่น่ากิน ราคาผลผลิตก็จะตกต่ำไปด้วย

เพลี้ยแป้ง:ดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนลำไย
วิธีป้องกันกำจัด
แนะนำให้ตัดส่วนของกิ่งก้านที่มีเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้งอาศัยอยู่ไปเผาทำลายเสีย หรือหากพบว่า เพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้งเริ่มระบาดในสวนลำไยของเรา ควรพ่นด้วยมาลาไธออน อัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไพรีทรอยด์ (อัตราส่วนตามฉลาก) พ่นให้ทั่ว 2 - 3 ครั้งห่างกัน 10 วัน
** ทางเลือกที่ปลอดภัย แนะนำให้ใช้สารไล่แมลงที่หมักจากสมุนไพรในธรรมชาติ **
ที่มา: สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่

หนอนเจาะกิ่งลำไย

หนอนเจาะกิ่งและลำต้นของลำไย

หนอนเจาะกิ่งและลำต้นของลำไยชนิดนี้ เกิดจากผีเสื้อที่วางไข่ตามเปลือกของกิ่งลำไย แล้วฟักไข่ออกมาเป็นตัวหนอน ตัวเต็มวัยของผีเสื้อเมื่อกางปีกจะยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ปีกคู่แรกและคู่หลังจะมีสีขาว แต่ปีกคู่แรกทั้งปีกจะมีจุดดำ ส่วนปีกคู่หลังจะมีจุดดำรอบขอบปีก  ผีเสื้อจะวางไข่มีสีเหลืองแดง และจะฟักเป็นตัวหนอนใน 9 - 10 วัน ตัวหนอนจะมีสีน้ำตาลอ่อนมีจุดดำทั้งตัว เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู มีความยาวประมาณ 2 - 8 เซนติเมตร

หนอนเจาะกิ่งลำไย
ลักษณะการทำลาย
ดักแด้จะเข้าอยู่ในรอยเจาะ และเจาะกินกิ่งหรือลำต้นของลำไยไปเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้กิ่งหรือลำต้นแห้งตายในที่สุด

วิธีป้องกันกำจัด
ตัดกิ่งลำไย ในส่วนที่สังเกตพบว่าถูกทำลาย หรือมีตัวหนอนอยู่ ทิ้งหรือทำลายเสีย หรืออาจใช้ยาดีดีเวพ (Dedevap) ในอัตรา 1 ส่วนต่อน้ำ 5 ส่วน ฉีดเข้าไปตามรูที่มีหนอนเจาะเข้าไป แล้วใช้ดินเหนียวอุดไว้


** ทางเลือกที่ปลอดภัย แนะนำให้ใช้สารไล่แมลงที่หมักจากสมุนไพรในธรรมชาติ **

ผีเสื้อมวนหวาน

ผีเสื้อมวนหวาน : หนอนกินดอกลำไย

ศัตรูลำไย
หนอนผีเสื้อ:กินดอกลำไย
ศัตรูลำไย ชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eublemma versicolora ทางภาคเหนือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กำเบ้อแดง ลักษณะตัวหนอนจะมีสีน้ำตาลอ่อนหัวสีดำ ขนาดยาว 1.5 - 2.0 ซม. ตัวอ้วนใหญ่ ระยะตัวอ่อน จะใช้เวลาประมาณ 14 - 16 วัน ระยะเข้าดักแด้ 6 - 8 วัน เมื่อโตเต็มที่ขนาดของตัวและกางปีกออกแล้วประมาณ 2 - 3 ซม. ปีกมีสีน้ำตาลปนเทา ทั้งปีกคู่หน้าและคู่หลังมีทางสีน้ำตาลเข้มพาดยาวๆ จนถึงกลางปีกผีเสื้อชนิดนี้จะออกหากินในเวลากลางคืน ช่วงเวลาประมาณ 20.00 – 24.00 น. เป็นเวลาที่พบมากที่สุด

การทำลายผลผลิตลำไย
ส่วนตัวหนอนจะกัดกินดอกลำไย โดยใช้ขี้หนอนและใยทำเป็นทางสีน้ำตาลไปตามกิ่งหรือช่อดอก ทั้งนี้เพื่อทำเป็นสัญลักษณ์ว่าตัวหนอนกินไปถึงทางไหนจะมีทางไปถึงนั่น ซึ่งจะสังเกตได้ง่าย หนอนจะทำลายดอกลำไยจนหมด ส่วนมากจะพบการระบาดในระยะที่ผลลำไยเริ่มแก่และใกล้เก็บเกี่ยว ศัตรูลำไยชนิดนี้จะทำลายผลโดยการใช้ส่วนของปาก (Proboscis) เจาะแทงเข้าไปในผลลำไยที่ใกล้สุกหรือผลลำไยที่สุกแล้ว ในส่วนของลำไยเมื่อถูกผีเสื้อมวนหวานดูดกินแล้ว จะร่วงภายใน 3 - 4 วัน หากเรานำผลลำไยที่ร่วงมาบีบดู จะสังเกตเห็นน้ำหวานไหลเยิ้มออกมาตามรูที่ถูกเจาะ และเมื่อแกะผลลำไยดู จะพบว่าเนื้อในของลำไยจะเน่าเสียเสียหาย เนื่องจากเชื้อโรคหรือเชื้อยีสต์เข้าทำลาย

วิธีป้องกันกำจัด
หากพบเห็นตามช่อดอกลำไย ให้ทำลายเสีย หรือหากพบว่ามีการระบาดมาก ควรใช้ยาฆ่าแมลงโมโนโครโตฟอส ในอัตรา 15 - 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น แต่ต้องฉีดพ่นในระยะที่ดอกลำไยยังไม่บาน

** ทางเลือกที่ปลอดภัย แนะนำให้ใช้สารไล่แมลงที่หมักจากสมุนไพรในธรรมชาติ **

แมลงค่อมทอง

แมลงค่อมทอง: กินยอดอ่อนและดอกลำไย

ศัตรูลำไย
แมลงค่อมทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypomeces squamosus Fab เป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็ง ตัวสีเหลืองถึงเขียวอ่อน มีปากเป็นงวงยื่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด ชอบอาศัยอยู่ใต้ใบพืช หากเราโดนตัวมันเข้าแมลงค่อมทองจะทิ้งตัวลงทันที ตัวแก่จะวางไข่ไว้ในดิน เมื่อฟักและเจริญเติบโตเป็นระยะตัวหนอนจะอาศัยกินรากพืชที่อยู่ในดินและเป็นดักแด้อยู่ในดินจนกระทั่งเจริญเป็นตัวแก่ จึงจะออกมากัดกินพืชและทำการผสมพันธุ์ต่อไป ระยะเป็นไข่ใช้เวลา 10 - 11 วัน ระยะที่เป็นตัวหนอนจะใช้เวลาอยู่ในดินประมาณ 5 - 6 เดือน ระยะเป็นดักแด้ใช้เวลา 14 - 15 วัน

แมลงค่อมทองกอนยอดอ่อนลำไย
การทำลายผลผลิตลำไย
แมลงค่อมทองจะกัดกินใบอ่อนและดอกของลำไย ทำให้ต้นลำไยชะงักการเจริญเติบโต ดอกไม่เจริญ ศัตรูลำไยชนิดนี้พบมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม และจะลดน้อยลงไปเองตามธรรมชาติในช่วงเดือนเมษายน และพบน้อยที่สุดในช่วงฤดูฝน

วิธีป้องกันกำจัด
1. เขย่าต้นให้แมลงหล่นลงไปแล้วนำไปทำลาย
2. ใช้สารฆ่าแมลงพวกคาร์บาริล ในอัตรา 30 - 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาเมท (แลนเนท) ในอัตรา 10 - 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือหากพบว่ามีการระบาดมาก ก็ใช้ยาโมโนโครโตฟอส ในอัตรา 15 - 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร


** ทางเลือกที่ปลอดภัย แนะนำให้ใช้สารไล่แมลงที่หมักจากสมุนไพรในธรรมชาติ **

หนอนคืบกินใบ: กัดกินใบอ่อน

หนอนคืบกินใบ: กัดกินใบอ่อนทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต

ศัตรูลำไย
หนอนคืบ
หนอนคืบกินใบ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แมลงบุ้งลำไย” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oxyodes scrobicularta Fabr ตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางคืน จะกินผลลำไยและลิ้นจี่เป็นอาหาร ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน คู่ที่สองจะเป็นสีน้ำตาลลายดำ ขอบปีกด้านบนเป็นแถบสีดำ ขนาดของผีเสื้อกางปีกกว้างประมาณ 5 ซม. ลำตัวมีขนสีเหลืองปกคลุม ตัวผู้และตัวเมียมีขนาดไล่เลี่ยกัน โดยตัวเมียจะวางไข่ไว้เดี่ยวๆ ไข่มีขนาดเล็กกลมสีขาวไม่มีสิ่งปกคลุม และมักจะไข่ไว้บนยอดอ่อนและใบอ่อนของลำไย หนอนชนิดนี้เมื่อฟักไข่ออกมาใหม่ๆแล้ว ตัวจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล มีแถบสีน้ำตาลตลอดลำตัว ขนาดตัวหนอนที่โตเต็มที่ยาวประมาณ 3 - 4 ซม. ระยะที่เป็นตัวหนอนจะใช้เวลาประมาณ 9 - 14 วัน ตัวหนอนจะเข้าทำลายใบอ่อนและยอดอ่อนลำไย ทำให้ได้รับความเสียหาย และหนอนผีเสื้อชนิดนี้พบว่ามีการระบาดอยู่ทั่วไปตามแหล่งปลูกลำไยและลิ้นจี่ โดยเฉพาะระยะที่ลำไยแตกยอดอ่อน (ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม) จะทำลายโดยกัดกินใบอ่อนของลำไยให้ได้รับความเสียหาย ทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโตจนถึงขั้นไม่ติดดอก ออกผล เลยทีเดียว
วิธีป้องกันกำจัด
1. เขย่ากิ่งลำไยให้หนอนหล่นลงพื้น แล้วเก็บทำลายหรือจะนำไปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ ก็ได้
2. ในช่วงที่ลำไยแตกยอดอ่อน หากพบว่ามีการระบาด ควรจะพ่นสารจำพวก คาร์บาริลในอัตรา 30 - 45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือหากพบว่าหนอนมีการระบาดมาก ทำความเสียหายให้อย่างรุนแรง ควรพ่นด้วยยาฆ่าแมลงจำพวกโมโนโครโตฟอสในอัตรา 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ก็สามารถป้องกันและกำจัดได้


** ทางเลือกที่ปลอดภัย: ขอแนะนำให้ใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรไล่แมลง **

หนอนม้วนใบ: ทำลายช่อดอก (ศัตรูลำไย)

หนอนม้วนใบ: ทำลายยอดอ่อนและช่อดอกลำไย

ศัตรูลำไย
หนอนม้วนใบ
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของหนอนม้วนใบ คือ Archips micaceana Walker ตัวเต็มวัยของหนอนม้วนใบ จะกลายเป็นผีเสื้อขนาดเล็กสีน้ำตาลแดง หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ผีเสื้อจะวางไข่เป็นกลุ่มๆ คล้ายเกล็ดปลา มีสีเหลืองอ่อน กลุ่มหนึ่งจะมีไข่ประมาณ 70 - 200 ฟอง ระยะไข่ 5 - 9 วัน หนอนจะมีสีเหลืองปนเขียว หัวสีน้ำตาลแดง มีตุ่มตามลำตัวแต่ละตุ่มจะมีขนเล็กสีขาว 1 - 2 เส้น เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 1.3 - 1.5 ซม. ระยะที่เป็นหนอนจะใช้เวลา 14 - 48 วัน จากนั้นก็จะกลายเป็นดักแด้ (ในใบพืชที่ม้วน) ระยะที่เป็นดักแด้อยู่ในใบของพืชจะใช้เวลาประมาณ 5 - 7 วัน ก็จะออกเป็นตัวเต็มวัย โดยศัตรูธรรมชาติชนิดนี้จะกัดกินใบอ่อนและช่อดอกลำไย ตัวหนอนจะห่อม้วนใบลำไยเข้าหากัน หรือชักใยดึงเอาหลายๆ ใบมารวมกัน หรือดึงเอาช่อดอกเข้ามารวมกันแล้วอาศัยอยู่ภายใน หากระบาดมากจะทำให้ยอดอ่อนและช่อดอกลำไยเสียหาย
วิธีป้องกันกำจัด
ผู้ปลูกลำไยควรหมั่นตรวจตามยอดอ่อนและช่อดอกเป็นประจำ หากพบมีการระบาดให้เก็บออกหรือทำลายเสีย หรือหากพบว่า มีการระบาดรุนแรงมากควรฉีดพ่นด้วยสารโมโนโครโตฟอส ในอัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพ่นด้วยไพรีทรอยด์ อัตรา 10 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร

** ทางเลือกที่ปลอดภัย: ขอแนะนำให้ใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรไล่แมลง **

โรคราดำ : ทำลายผลผลิตลำไย

โรคราดำ ทำลายผลผลิตลำไย

ศัตรูลำไย
ลำไยที่เป็นโรคราดำ
โรคราดำ ที่สร้างปัญหาให้กับผู้ปลูกลำไยนั้น เกิดจากการทำลายของแมลงพวกปากดูด เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเพลี้ยจักจั่น แล้วถ่ายน้ำหวานมาปกคลุมส่วนต่างๆ ของลำไย หลังจากนั้นเชื้อราที่มีอยู่ในอากาศโดยเฉพาะเชื้อรา Capnodium ramosum, Meliola euphoriae. จะปลิวมาขึ้นบนส่วนที่มีน้ำหวาน โดยสีดำของเชื้อราจะขึ้นปกคลุมใบ กิ่ง ช่อดอก และผิวของผลลำไย ทำให้เราเห็นเป็นคราบสีดำคล้ายเขม่า ส่วนใบลำไยที่ถูกเคลือบด้วยแผ่นคราบดำของเชื้อรานี้ เมื่อแห้งจะหลุดออกเป็นแผ่นได้ง่าย ตามปกติแล้วเชื้อราจะไม่ทำลายพืชโดยตรงครับ แต่จะไปลดการปรุงอาหารของใบลง ซึ่งอาการที่ปรากฏที่ช่อดอกลำไย หากรุนแรงอาจทำให้ดอกลำไยร่วงไม่สามารถผสมเกสรได้ จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ดอกลำไยร่วง เพราะถูกเชื้อราดำเข้ามาเคลือบทำลายนั่นเอง

การป้องกันและกำจัด
แมลงปากดูด หรือเพลี้ยต่างๆ ที่เป็นศัตรูของลำไย สามารถป้องกันได้ โดยพ่นสารเคมีเช่น คาร์บาริล 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อาจพ่นควบคู่กับสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คอปเปอร์ออกซิคลอไรด์ หรือ ไซฟลูธริน 40 - 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ก็ได้


** ทางเลือกที่ปลอดภัย: ขอแนะนำให้ใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรไล่แมลง **

มวนลำไย : ดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน

มวลลำไย หรือแมงแกงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน

ศัตรูลำไย
มวลลำไยหรือแมงแกง
มวนลำไย  หรือที่ชาวบ้านทางภาคเหนือเรียก แมงแกง ตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ มีขนาดยาวประมาณ 25 - 31 เซนติเมตร และส่วนกว้างประมาณ 15 - 17 ซม. มวลลำไยตัวเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มตามใบ หรือเรียงตามก้านดอกของลำไย ไข่กลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 14 ฟอง และจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนประมาณ 7 - 14 วัน ตัวอ่อนจะมีสีแดงมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ระยะที่เป็นตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 61 - 74 จึงจะเจริญออกมาเป็นตัวเต็มวัย

โดยปกติทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของมวนลำไย จะทำความเสียหายให้กับลำไย โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนของลำไย ทำให้ยอดอ่อนและใบอ่อนแห้งเหี่ยว ดอกได้รับความเสียหายจนกระทั่งไม่ติดผล หรือทำให้ร่วงหล่นตั้งแต่ยังเล็ก มวลลำไยมีการระบาดอยู่บ่อยครั้ง ในแหล่งปลูกลำไยจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนโดยเฉพาะบริเวณสวนลำไย ตามแนวที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำปิง

ศัตรูธรรมชาติของมวลลำไย
ศัตรูธรรมชาติของมวนลำไยเท่าที่มีการสำรวจพบได้แก่ แตนเบียนไข่ Ooencyrtus sp. และ Anastatus sp. ซึ่งจะคอยเป็นตัวทำลายไข่ ของมวนลำไยตามธรรมชาติ

วิธีป้องกันกำจัด

1. ตัดแต่งกิ่งลำไยให้มีแสงผ่านได้ ไม่ให้ร่มหนาจนเกินไป เพราะจะเป็นที่หลบซ่อน และพักอาศัยของมวลลำไยตัวเต็มวัยได้ และพยายามจับตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ไปทำลายเสีย
2. หากพบว่าระบาดมากให้ใช้ยาฆ่าแมลงจำพวก โมโนโครโตฟอส ฉีดพ่นในอัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือยาฆ่าแมลงคาร์บาริล อัตรา 45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยฉีดพ่นในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลำไยกำลังตั้งช่อดอกและติดผลพอดี เพราะช่วงดังกล่าว จะพบทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของมวลลำไย (สารฆ่าแมลงจำพวกคาร์บาริล จะใช้ได้ผลดีในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อนในวัย 1 - 2 เท่านั้น หากพ่นในช่วงเวลาอื่นจะไม่ได้ผล)


** ทางเลือกที่ปลอดภัย: แนะนำให้ใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรไล่แมลง **

โรคพุ่มไม้กวาดและโรคราสีชมพู (โรคลำไย)

โรคพุ่มไม้กวาด

โรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดกับลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน ต้นลำไยที่เป็นโรคนี้ ลักษณะอาการจะเหมือนพุ่มไม้กวาด และต้นลำไยที่เป็นโรครุนแรงจะทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด จะออกดอกติดผลน้อย อาการจะปรากฏที่ส่วนยอดและส่วนที่เป็นตาของลำไย โดยเริ่มแรกใบยอดจะแตกใบออกเป็นฝอย มีลักษณะเหมือนพุ่มไม้กวาด ใบมีขนาดเล็กเรียวยาว ใบแข็งกระด้างไม่คลี่ออก กลายเป็นกระจุกสั้นๆ ขึ้นตามส่วนยอด และลำไยที่เป็นโรคนี้เมื่อถึงคราวออกช่อดอก ถ้าไม่รุนแรงก็จะออกช่อชนิดหนึ่งติดใบบนดอกและช่อสั้นๆ ซึ่งอาจติดผลได้ 4 - 5 ผลถ้าเป็นโรครุนแรงต้นจะออกดอกติดผลน้อย (พันธุ์ลำไยที่อ่อนแอต่อโรคนี้คือพันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน)

สาเหตุของโรคและการแพร่ระบาด
สาเหตุเกิดจากเชื้อมายโครพลาสมา (Mycroplasma) แพร่ระบาดได้ทางกรรมพันธุ์คือ สามารถแพร่ระบาดไปโดยการตอนกิ่งลำไยจากต้นที่เป็นโรคไปปลูก หรือจำหน่าย โรคนี้มีแมลงพวกเพลี้ยจั๊กจั่นสีน้ำตาลเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปสู่ลำไยต้นอื่นๆ

การป้องกันและกำจัด
1. สำหรับต้นลำไยที่เป็นโรคถ้าเป็นไม่มาก ควรตัดกิ่งที่เป็นโรคนำมาเผาทำลายเสีย ทั้งนี้ชาวสวนลำไยจะต้องพร้อมใจกันและกำจัดทุกๆ สวน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาด
2. คัดเลือกกิ่งพันธุ์ลำไย จากต้นที่ไม่เป็นโรคไปปลูก
3. ป้องกันแมลงจำพวกปากดูดพวกเพลี้ยจั๊กจั่นสีน้ำตาล โดยใช้สารเคมีเช่น ฟอสซ์ อัตรา 50 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ มิพซิน อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือลอร์สแมน อัตรา 80 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงระบาด หรือใช้สารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ

โรคราสีชมพู

โรคลำไย
ลำไยที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการที่กิ่ง โดยเฉพาะตรงง่ามของกิ่งหรือลำต้น กิ่งลำไยที่เป็นโรคใบจะปรากฏสีเหลืองซีด และเมื่อโรครุนแรงอาจทำให้ใบร่วงเหลือแต่กิ่ง บริเวณกิ่งที่ถูกทำลายจะมีคราบของเชื้อราสีขาวอมชมพูแผ่ขยายปกคลุมคล้ายทาด้วยสีชมพู เมื่อกิ่งแห้งจะเห็นคราบนี้ชัดขึ้นเป็นสีชมพูหรือสีปูนแห้ง เมื่อผ่าตรวจดูเปลือกลำไยจะผุ เนื้อไม้ยุ่ย และกิ่งลำไยจะแห้งตายไปในที่สุด ทั้งนี้เพราะเกิดคล้ายรากเทียมที่ใต้ผิวแผ่นเชื้อราที่แนบติดกับผิวของกิ่ง เข้าดูดกินน้ำเลี้ยงและทำลายเนื้อเยื่อบริเวณนั้น

สาเหตุของโรคและการแพร่ระบาด
เกิดจากเชื้อรา Corticium salmonicolor ระบาดในฤดูฝน โดยสปอร์ของเชื้อราจะระบาดไปกับลมและน้ำฝน โดยเฉพาะกิ่งล่างของต้นลำไย มักจะถูกเชื้อรานี้เข้าทำลายเกิดเป็นโรคอยู่ทั่วไป ทรงพุ่มที่หนาทึบ ย่อมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้มากและเร็วขึ้น ผู้ปลูกลำไยควรตัดแต่งกิ่งบ้าง

การป้องกันและกำจัด

ควรตัดกิ่งลำไยที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคและให้มีการถ่ายเทอากาศดีขึ้น แล้วพ่นด้วยสารเคมีตรงส่วนที่เป็นโรคด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเอดิเฟนฟอส 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฉีดพ่นด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ

โรคหงอย และโรคจุดสาหร่ายสนิม (โรคลำไย)

ลำไย: ที่เป็นโรคหงอย และโรคจุดสาหร่ายสนิม

ลำไยที่เป็นโรคหงอย
ต้นลำไยที่เป็น "โรคหงอย" ลำต้นจะซีดลง การเจริญเติบโตทางกิ่งน้อย ใบเล็ก และคดงอ หากมองไกลๆ จะคล้ายใบลิ้นจี่ เมื่อตัดกิ่งของลำไยที่เป็นโรคนี้มาตรวจ จะพบว่าไส้กลางเป็นสีน้ำตาล ชาวบ้านมักเรียกว่า โรคไส้ดำ โรคนี้มักเกิดกับต้นลำไยที่ออกดอกติดผลดีแล้ว สวนลำไยบางแห่งเจอปัญหานี้ทั้งในลำไยต้นเล็ก และลำไยต้นที่โตแล้ว

สาเหตุของโรค
โรคหงอยที่เกิดกับต้นลำไย ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างแน่ชัด แต่ก็ยังมีการศึกษาค้นคว้า และทดลองอยู่

โรคจุดสาหร่ายสนิม

ลำไย
ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดที่ใบของลำไย คือ เกิดใบลำไยจะมีจุดค่อนข้างกลม มีขนาด 0.5 - 1 ซม. แรกๆ เป็นขุยสีเขียวต่อมาในระยะเกิดสปอร์จะเป็นสีแดงสีสนิมเหล็ก ผิวมีลักษณะเป็นขุยคล้ายกำมะหยี่ หากเป็นที่ใบลำไยจะไม่รุนแรงมากนัก แต่ความรุนแรงจะปรากฏที่กิ่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นมากก็จะทำให้ต้นลำไยทรุดโทรมได้ กิ่งที่ถูกแสงจะถูกทำลายโดยเกิดเป็นขุยเช่นเดียวกับใบ คือจะเป็นจุดหรือเกิดต่อเนื่องเป็นขุยสนิมเหล็ก ต่อมาขุยก็จะแห้งหายไป จุดที่ถูกทำลายเปลือกจะแตกและแห้งทำให้ใบลำไยเหลืองและร่วง ทั้งนี้เป็นเพราะรากเทียมของสาหร่ายเข้าไปชอนไชในเนื้อเยื่อ ดูดกินน้ำเลี้ยงและเซลล์เน่าตาย ทำให้ส่วนนั้นแห้งตายไป

การแพร่ระบาด
ไม่ใช่เฉพาะต้นลำไยเท่านั้น โรคนี้ยังทำลายพืชได้หลายชนิด ระบาดในที่ๆ มีความชื้นสูงโดยเฉพาะในฤดูฝน แพร่ระบาดโดยสปอร์จะปลิวไปตามลมนอกจากนี้ น้ำก็เป็นพาหะนำสปอร์ไปสู่ต้นอื่นได้เช่นเดียวกัน

การป้องกันและกำจัด

โรคนี้ชาวสวนลำไยสามารถป้องกัน และกำจัดได้ด้วยการพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราพวกสารประกอบของทองแดง เช่น ค๊อปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

เพาะเห็ดตับเต่าใต้ต้นลำไย

เทคนิคเพาะเห็ดตับเต่า ให้เกิดในสวนลำไย
เพาะเห็ดตับเต่าในสวนลำไย
ก้อนเชื้อเห็ดตับเต่า
ไหน ๆ ก็เสียสละพื้นที่ทำสวนลำไยไปแล้ว เรามาเพิ่มมูลค่าให้สวนลำไย ด้วยการเพาะเห็ดตับเต่าขายกันดีกว่าครับ เห็ดตับเต่า หรือทางภาคเหนือเรียกว่าเห็ดห้า ภาคอีสานเรียกว่าเห็ดผึ้ง สามารถเพาะให้เกิดในสวนลำไยได้ ด้วยการใส่เชื้อเห็ดลงไปที่โคนต้นลำไย อาจจะใส่ตั้งแต่ต้นลำไยยังเล็ก หรือใส่กับต้นลำไยที่โตแล้วก็ได้ มีรายละเอียดดังนี้ครับ

เห็ดตับเต่าเป็นเห็ดดำรงชีพแบบเอ็คโตมัยคอร์ไรซ่า(ectomycorrhiza) คือจะอาศัยอยู่ร่วมกับรากพืชอาศัย ในที่นี้ขอพูดถึงต้นลำไยครับ เชื้อราเอกโตไมคอร์ไรซ่า จัดเป็นราชั้นสูงซึ่งสามารถสร้างดอกเห็ดได้ดี โดยจะสร้างดอกเห็ดเหนือพื้นดินใต้ร่มไม้บริเวณรากของต้นไม้ ก่อนถึงผิวดินเล็กน้อย เห็ดที่เกิดเองในธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่แล้ว เกิดได้โดย 3 ปัจจัยหลัก คือ

1. โดยสปอร์ของเห็ดที่บานถูกฝนชะล้างไปสูต้นไม้อาศัย
2. โดยเส้นใยเห็ดราที่แตกแขนงไปในดิน แต่วิธีนี้ต้องมีพืชอาศัยชนิดเดียวกัน เกิดชิดติดกัน และอยู่ข้าง ๆ กันด้วย
3. โดยสัตว์ หรือแมลงที่มากินดอกเห็ดเน่า แล้วนำสปอร์ของเห็ดติดไปแพร่ระบาดไปอยู่กับต้นไม้อาศัยในที่ห่างไกล
ใส่เชื้อเห็ดขณะยังเป็นต้นกล้า
เพาะเห็ดตับเต่าในสวนลำไย
ส่วนการเพาะเห็ดตับเต่าให้เกิดในสวนลำไย ก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ ก่อนอื่นให้เราจัดเตรียมเชื้อเห็ดก่อน คือต้องรอช่วงหน้าฝนครับ จะหาเก็บดอกเห็ดแก่ตามธรรมชาติ หรือจะสั่งซื้อก้อนเชื้อเห็ดที่เขาทำใส่ขวดไว้แล้วก็ได้ (ผมสั่งซื้อจากศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย) เมื่อเราได้เชื้อเห็ดมาแล้ว ก็ทำตามขั้นตอนดังนี้เลยครับ

1. นำเห็ดบานที่กำลังเน่า หรือก้อนเชื้อเห็ดที่ซื้อมาใส่ภาชนะเติมน้ำ แล้วขยี้ให้ละลายในน้ำให้เข้ากันดี หรือจะนำไปปั่นก็ได้

2. ใช้จอบขุดรอบโคนต้นลำไยห่างประมาณ 1 เมตร (ในกรณีลำไยโตแล้ว) ลึกลงประมาณครึ่งฝ่ามือ เพื่อหารากฝอย เสร็จแล้วนำน้ำ ( ที่มีสปอร์ของเห็ด) ที่เตรียมไว้ ไปรดบริเวณโคนต้นลำไยหรือบริเวณที่ขุดไว้ แล้วเอาดินกลบตามเดิม และในช่วง 1 – 3 วันแรกหากไม่มีฝนตก ให้รดน้ำเช้า – เย็น หลังจากนั้นก็ไม่ต้องรดน้ำลำไยอีกเลย เป็นอันเสร็จขั้นตอนครับ
เพียงเท่านี้ชาวสวนลำไย ก็รอเก็บผลผลิตทั้งลำไยทั้งเห็ดตับเต่าขายกันได้เลยครับ
** ในกรณีที่มีต้นกล้าลำไย ก็สามารถนำเชื้อเห็ดมาใส่ได้เลย การใส่เชื้อเห็ดตั้งแต่เป็นต้นกล้า จะทำให้ลำไยโตไว ทนต่อโรค และทนแล้งได้เป็นอย่างดี **

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : ลำไยผง

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : ลำไยผง

การผลิตลำไยผง
ลำไยผง เป็นการแปรรูปลำไยที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลำไยได้มากกว่าการแปรรูปแบบอื่น ๆ อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาปริมาณลำไยล้นตลาด แก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำ การผลิตลำไยผงสามารถแปรสภาพผลลำไยที่ไม่สวยและมีขนาดเล็กให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ สามารถเก็บลำไยไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สารโพแทสเซียมคลอเลต (KCLO3) ได้เข้ามามีบทบาทต่อชาวสวนลำไยเป็นอย่างมาก โดยชาวสวนลำไยได้นำสารดังกล่าวมาใช้เร่งการออกดอก ทำให้ลำไยออกดอก และติดผลตลอดทั้งปี จึงทำให้มีปริมาณลำไยล้นตลาด ส่งผลให้ราคาลำไยตกต่ำ
จากปัญหาดังกล่าวทำให้มีการพยายามพัฒนาการผลิตลำไยผงในลักษณะโรงงานที่มีคุณภาพมาตรฐาน และคงคุณสมบัติของลำไยครบถ้วนส่วนโอกาสทางการตลาดของลำไยผงนั้น มีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพราะความต้องการบริโภคลำไยของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  หากผลผลิตลำไยออกตามฤดูกาล ทำให้บางช่วงปริมาณลำไยไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในช่วงนั้น ๆ อีกทั้งมีราคาแพง จึงเปิดโอกาสให้ลำไยเข้ามาตอบสนองความต้องการได้
ตลาดต่างประเทศที่สำคัญคือ ประเทศ อินโดนีเชีย มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ส่วนลำไยแห้งจะมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ช่องทางการจำหน่ายก็เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปทั่วไป ส่วนใหญ่จะวางขายตามร้านสะดวกซื้อ ในร้านค้าเฉพาะ และการจำหน่ายผ่านงานแสดงสินค้าต่าง ๆ  หรือขายตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยการแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ลำไยผงไปใช้แทนลำไยสด หรือลำไยอบแห้งแบบเดิมในการทำเครื่องดื่ม หรืออาหารอื่น ๆ ที่มีความต้องการให้มีรสชาติของลำไย โดยการใช้ลำไยผงจะมีความยุ่งยากในการเก็บสต๊อกสินค้าน้อยกว่าการเก็บลำไยสดหรือลำไยอบแห้งที่ต้องระวังการขึ้นราอีกด้วย

ที่มา: สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


ลำไยแห้งกวน + ลำไยในน้ำเชื่อม + ลำไยแช่แข็ง

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : ลำไยแห้งกวน (ทำจากลำไยแห้ง)

การทำลำไยแห้งกวน
วัตถุดิบ
- เนื้อลำไยแห้ง 200 กรัม
- น้ำตาลทราย 400 กรัม
- แบะแซ 50 กรัม

ขั้นตอนการทำ ลำไยกวน
1. ต้มเนื้อลำไยแห้งในน้ำเดือด ให้เนื้อลำไยแห้งพอประมาณ
2. หั่นเนื้อลำไยให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวจนเกือบแห้ง เติมน้ำตาลทราย และแบะแซ คนให้ละลายเข้ากัน และกวนจนข้นได้ที่เป็นอันเสร็จ พร้อมรับประทาน หรือบรรจุในภาชนะสะอาดปิดให้สนิท หรือจะห่อด้วยกระดาษแก้วใส ก็แล้วแต่สะดวกครับ
รวมสูตรแปรรูบลำไย

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : ลำไยในน้ำเชื่อม

การทำลำไยในน้ำเชื่อม
วัตถุดิบ
- เนื้อลำไยสด
- น้ำตาลทราย 400 กรัม
- กรดซิตริก (กรดมะนาว)
- แคลเซียมคลอไรด์
- น้ำเปล่า
ขั้นตอนการทำ ลำไยในน้ำเชื่อม
1. ปอกเปลือกลำไย แกะเมล็ดออก เอาเฉพาะเนื้อลำไยสด
2. เตรียมน้ำเชื่อมที่มีความเข้มข้นร้อยละ 35 (น้ำตาลทราย 350 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร)
3. เติมแคลเซียมคลอไรด์ร้อยละ 0.2 และ กรดซิตริกร้อยละ 0.2 คนให้ละลายเข้ากันดี
4. บรรจุเนื้อลำไยลงในขวดโหลหรือภาชนะที่ทนความร้อน แล้วเติมน้ำเชื่อมร้อนลงไป นำไปนึ่งไล่อากาศ จากนั้นปิดฝาภาชนะให้แน่นนำไปต้มฆ่าเชื้อในน้ำเดือด เป็นอันเสร็จ

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : ลำไยแช่แข็ง

การทำลำไยแช่แข็ง
วัตถุดิบ
- เนื้อลำไยสด
- น้ำตาลทรายขาว
- กรดแอสคอบิกา
- แคลเซียมคลอไรด์
ขั้นตอนการทำ ลำไยแช่แข็ง
1. ปอกเปลือกลำไย แกะเมล็ดออก เอาเฉพาะเนื้อลำไยสด
2. ละลายแคลเซียมคลอไรด์ 1 กรัม และกรดแอสคอบิก 0.5 กรัม ในน้ำ 1 ลิตร
3. แช่เนื้อลำไยในสารละลายที่เตรียมไว้ นาน 15 นาที แล้วนำขึ้นจุ่มในน้ำเชื่อมที่มีความเข้มข้นร้อยละ 35 (น้ำตาลทราย 350 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร)

4.เกลี่ยเนื้อลำไยลงบนตะแกรง ผึ่งให้แห้ง เสร็จแล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติกอย่างหนาปิดถุงให้สนิท นำไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ - 40 องศาเซลเซียสทันที และเมื่อลำไยแข็งดีแล้ว ให้นำไปเก็บในตู้แช่แข็งที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส เป็นอันเสร็จขั้นตอน

น้ำหวานลำไยแห้ง + ลำไยกวน

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : น้ำลำไยหวานเข้มข้น (ทำจากลำไยแห้ง)

การทำน้ำหวานลำไยแห้ง
วัตถุดิบ
- เนื้อลำไยแห้ง 50 กรัม หรือครึ่งขีด
- น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
- น้ำเปล่า 1 ลิตร

ขั้นตอนการทำ น้ำหวานลำไยแห้ง
1. ต้มเนื้อลำไยแห้งกับน้ำเปล่าด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 30 นาที เสร็จแล้วใส่น้ำตาลทราย คนให้ละลายเข้ากันดี
2. ต้มให้เดือดอีกครั้งก่อนบรรจุขวดที่สะอาด ปิดจุกให้แน่นเป็นอันเสร็จ

หมายเหตุ: หากเก็บในตู้เย็นไม่ต้องเติมสารกันเสีย แต่ถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้อง ต้องเติมโซเดียมเบนโซเอท 0.5 กรัม หรือประมาณ 1/ 4 ช้อนชาต่อน้ำลำไยหวานเข้มข้น 1 กิโลกรัมก่อนบรรจุขวดเก็บไว้ และหากต้องการดื่มให้ผสมน้ำ 2 เท่า เติมน้ำแข็งตามแต่ถนัด

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : ลำไยกวน (ทำจากลำไยสด)

การทำลำไยสดกวน
วัตถุดิบ
- เนื้อลำไยแห้ง 1 กิโลกรัม
- น้ำตาลทราย 400 กิโลกรัม
- แบะแซ 50 กรัม

ขั้นตอนการทำ ลำไยกวน
1. ปอกเปลือกลำไย แกะเมล็ดออก เอาเฉพาะเนื้อลำไยสด
2. สับเนื้อลำไยเป็นชิ้นเล็กๆ นำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวจนเกือบแห้ง เติมน้ำตาลทรายและแบะแซลงไป คนให้ละลายจนได้ที่ บรรจุในภาชนะที่สะอาดปิดฝาให้สนิท หรือห่อด้วยกระดาษแก้วใส เป็นอันเสร็จขั้นตอนครับ 

เครื่องดื่มน้ำลำไย + น้ำหวานลำไยสด

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : เครื่องดื่มน้ำลำไย (ทำจากลำไยสด)

การทำเครื่องดื่มน้ำลำไย
วัตถุดิบ
- เนื้อลำไยสด 100 กรัม
- น้ำตาลทราย 600 กรัม
- โซเดียมเมตาไบซัลไฟท์ 1 กรัม
- น้ำเปล่า 1 ลิตร

ขั้นตอนการทำ เครื่องดื่มน้ำลำไย
1. ปอกเปลือกลำไย แกะเมล็ดออกเอาเฉพาะเนื้อลำไยสด
2. ละลายโซเดียมเมตาไบซัลไฟท์ 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร กวนให้ละลายเข้ากัน
3. นำเนื้อลำไยที่เตรียมไว้แช่ในสารละลายโซเดียมเมตาไบซัลไฟท์ นาน 15 นาที แล้วนำไปตากในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส จนเกือบแห้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นนำขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วลวกในน้ำเดือดต่ออีก 2 นาที โดยเติมน้ำเล็กน้อยพร้อมตีป่นเนื้อลำไยกับน้ำ
4. กรองน้ำลำไยด้วยผ้าขาวบาง แล้วนำไปอบในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส จนน้ำลำไยข้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ต่อจากนั้นเติมน้ำตาลทรายขาว คลุกให้เข้ากัน ตากต่อจนแห้ง จะใช้เวลาตากประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นอันเสร็จขั้นตอน นำมาชงดื่ม หรือบรรจุในภาชนะที่สะอาดเก็บไว้ได้เลย
น้ำลำไย
ผลิตภัณฑ์แปรรูป : น้ำลำไยหวานเข้มข้น (ทำจากลำไยสด)

การทำน้ำลำไยหวานเข้มข้น
วัตถุดิบ
- เนื้อลำไยสด 500 กรัม
- น้ำเชื่อม (2:1) 1.5 ลิตร
- กรดซิตริก (กรดมะนาว) 1 กรัม หรือประมาณ 1/4 ช้อนชา

ขั้นตอนการทำ น้ำหวานลำไยเข้มข้น
1. ปอกเปลือกลำไย แกะเมล็ดออก เอาเฉพาะเนื้อลำไยสด
2. นำเนื้อลำไยตีให้ละเอียดด้วยเครื่องตีไฟฟ้า ผ่านตะแกรงหรือผ้ากรองอย่างหยาบ
3. ผสมน้ำลำไยกับน้ำเชื่อม เติมกรดซิตริก
4. ต้มให้เดือดก่อนบรรจุขวดที่สะอาดปิดจุกให้แน่น

หมายเหตุ: หากเก็บในตู้เย็นไม่ต้องเติมสารกันเสีย แต่ถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้อง ต้องเติมโซเดียมเบนโซเอท 0.5 กรัม หรือประมาณ 1/ 4 ช้อนชาต่อน้ำลำไยหวานเข้มข้น 1 กิโลกรัมก่อนบรรจุขวดเก็บไว้ และหากต้องการดื่มให้ผสมน้ำ 2 เท่า เติมน้ำแข็งตามแต่ถนัด
การทำน้ำเชื่อม  ใช้น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร ต้มให้เดือดบรรจุภาชนะเป็นอันเสร็จ

ลำไยเคลือบน้ำตาล + เครื่องดื่มน้ำลำไย

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : ลำไยเคลือบน้ำตาล

การทำลำไยเคลือบน้ำตาล
วัตถุดิบ
- เนื้อลำไยสด
- น้ำตาลทราย
- กรดซิตริก (กรดมะนาว)
- โซเดียมเมตาไบซัลไฟท์

ขั้นตอนการทำ ลำไยเคลือบน้ำตาล
1. นำเนื้อลำไยแช่อิ่มมาล้างในน้ำเชื่อมเจือจาง
2. เอาขึ้นผึ่งแดด หรืออบให้แห้ง จนกระทั่งเห็นเป็นเกล็ดน้ำตาลเคลือบบางๆ เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมรับประทานหรือบรรจุในภาชนะเก็บไว้ได้เลย

ผลิตภัณฑ์แปรรูป : เครื่องดื่มน้ำลำไย (ทำจากลำไยแห้ง)

การทำเครื่องดื่มน้ำลำไย
วัตถุดิบ      
- เนื้อลำไยแห้ง 100 กรัม
- น้ำตาลทราย 400 กรัม
- น้ำเปล่า 1 ลิตร

ขั้นตอนการทำ เครื่องดื่มน้ำลำไย
1. ใช้เนื้อลำไยแห้ง (อัตราส่วนเนื้อลำไยต่อน้ำ 1:10) แช่น้ำค้างคืนทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน แล้วนำมาต้มจนได้น้ำลำไยเข้มข้นประมาณ 100 กรัม ซึ่งจะใช้เวลาต้มประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง จากนั้นกรองน้ำลำไยด้วยผ้าขาวบาง
2. นำไปตากในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส จนเกือบแห้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นเติมน้ำตาลทรายขาวคลุกให้เข้ากัน นำไปตากต่อจนแห้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง
3. นำไปตีป่นเป็นผง พร้อมเติมน้ำร้อยละ 4 ของน้ำหนักลำไยผง คลุกให้เข้ากันแล้วนำไปร่อนบนตะแกรงเบอร์ 8 เพื่อให้เป็นเม็ดหยาบๆ
4. นำไปตากต่อในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส จนแห้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นอันเสร็จขั้นตอน จะชงดื่ม หรือบรรจุในภาชนะเก็บไว้ก็ตามแต่สะดวก