ลำไยปิงปอง ให้ผลสองครั้งต่อปีโดยไม่ต้องใช้สาร

ลำไยปิงปอง ให้ผลสองครั้งต่อปี

ลำไยปิงปอง น้ำหนักผล 30 ลูกต่อกิโลกรัม

ใหนๆ ก็เล่าถึงความเป็นมาของลำไยมานานแล้ว สำหรับบทความนี้ขอนำเสนอลำไยสายพันธุ์ที่ค่อนข้างใหม่ (เฉพาะในบ้านเรา) แต่ที่เวียดนามเขาทำเป็นธุรกิจและมีการพัฒนาสายพันธุ์ลำไย จนมีขนาดผลเท่าลูกปิงปองและให้ฉายายลำไยสายพันธุ์นี้ว่า “ลำไยปิงปอง” คือเป็นลำไยที่มีผลขนาดใหญ่กว่าลำไยสายพันธุ์ “อีดอ” บ้านเรา ถึงเท่าตัวเลยทีเดียวครับ

ลำไยปิงปอง
ลำไยปิงปอง เป็นลำไยสายพันธุ์ที่มีการพัฒนา จนมีลักษณะผลใหญ่ขนาดเท่าลูกปิงปอง โดยน้ำหนักของผลลำไย 30 ผล หากนำมาชั่งจะได้ประมาณหนึ่งกิโลกรัม หากนำมาเปรียบเทียบน้ำหนักกับลำไยสายพันธุ์อีดอ (เกรดเอหรือเกรดจัมโบ) ของบ้านเรา จะต้องใช้ลำไยพันธุ์อีดอถึง 70 ลูกจึงจะได้น้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม ด้วยเหตุนี้เวียดนามจึงตั้งชื่อลำไยสายพันธุ์นี่ว่า "ลำไยปิงปอง" และถือเป็นลำไยพันธุ์พื้นเมืองของเวียดนาม  มีด้วยกันหลายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นและถูกคัดเลือกมาจะมีเพียง 2 สายพันธุ์คือ ลำไยพันธุ์ปิงปอง กับลำไยพันธุ์พริกไทย แต่ลำไยพันธุ์พริกไทยจะมีขนาดผลพอๆ กับลำไยพันธุ์อีดอของบ้านเรา แต่สำหรับลำไยปิงปองเป็นที่ยอมรับว่า เป็นลำไยที่อัดแน่นด้วยคุณภาพ คือจะมีรสหวานหอม มีลักษณะเนื้อหนา ไม่ฉ่ำน้ำ แต่เมล็ดจะเล็กพอๆกับลำไยพันธุ์พริกไทย และที่สำคัญเป็นลำไยที่มีทรงพุ่มขนาดเล็กกะทัดรัด ทั้งทรงพุ่มและลักษณะใบจะคล้ายกับลำไยเครือหรือลำไยเลื้อยของไทยเรา แต่ผลกลับใหญ่เท่าลูกปิงปองเลยทีเดียว และยังมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นลำไยที่มีกิ่งก้านเหนียวแข็งแรง เนื้อในจะเป็นสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง แต่แห้งไม่แฉะน้ำ และด้วยขนาดทรงพุ่มที่เล็ก จึงทำให้ลำไยพันธุ์ปิงปองสามารถนำไปปลูกได้ในลักษณะระบบพุ่มชิด โดยใช้ระยะปลูกเพียง 4x4 เมตรเท่านั้น ซึ่งในพื้นที่หนึ่งไร่จะปลูกได้ถึง 100 ต้นเลยทีเดียวครับ

ลำไยปิงปอง เนื้อหนาแต่เมล็ดเล็กนิดเดียว
สำหรับลำไยพันธุ์ปิงปอง และพันธุ์พริกไทย เป็นลำไยที่ให้ผลผลิตตั้งแต่เริ่มปลูกเพียง 2 ปีแรก และจะออกดอกและติดผลปีละ 2 ครั้ง เป็นลำไยที่สามารถนำมาปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ภาคใต้ คือไม่จำเป็นต้องเลือกพื้นที่ปลูกที่มีอากาศหนาว เพื่อที่จะใช้ความหนาวเย็นกระตุ้นให้เกิดการสร้างตาดอก เพราะลำไยของเวียดนามเป็นลำไยสายพันธุ์เมืองร้อนที่สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอดปีโดยไม่เลือกฤดูกาล เช่นเดียวกับลำไยพันธุ์เพชรสาครบ้านเรานั่นเองครับ และจุดเด่นที่สำคัญของลำไยทั้งสองสายพันธุ์นี้คือ จะเป็นลำไยทะวาย ที่สามารถทำให้ดอกและติดผลได้ถึงปีละสองครั้งด้วยวิธีง่ายๆ เพียงแค่ควั่นกิ่งเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องใช้สารบังคับแต่อย่างใด  เพราะตามปกติแล้ว ในการทำลำไยนอกฤดูเราจะใชสารโปรแตสเซียมครอเรท ซึ่งเป็นส่วนผสมของเชื้อประทุดินประสิวซึ่งมีผลต่อระบบรากของลำไยอย่างรุนแรงจนทำให้ลำไยออกดอกและติดผล และจะทำให้ต้นลำไยมีโอกาสตายง่ายๆ
การให้ปุ๋ยบำรุงต้นลำไยปิงปอง
สำหรับการให้ปุ๋ยบำรุงต้นลำไยสายพันธุ์นี้ มีคำแนะนำว่าควรใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ปุ๋ยไข่มุกสูตร 16-16-16 จะใส่ในช่วงเก็บผลผลิตและตัดแต่งกิ่งแล้ว และจะใส่ปุ๋ยอีกครั้งในช่วงก่อนลำไยออกดอก 1 เดือน ซึ่งจะใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ร่วมกับแคบลเซียมไนเตรทโบรอนสูตร 15-0-0 เป็นปุ๋ยเสริม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงแก่ต้นลำไย ตลอดถึงเพิ่มความสมบูรณ์ให้ดอกและผล แถมยังช่วยให้ต้นลำไยสามารถดูดซับธาตุอาหารอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ที่มา: คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

      

เริ่มต้นปลูกลำไย

การเตรียมดินก่อนปลูกลำไย

เริ่มต้นปลูกลำไย
พื้นที่สำหรับปลูกลำไย: หากเป็นพื้นที่ที่เคยปลูกพืชอย่างอื่นมาก่อนให้ไถดินลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วตากดินไว้ 20-25 วัน พรวนย่อยดินอีก 1-2 ครั้ง และปรับระดับดินให้สม่ำเสมอตามแนวลาดเอียง

กล้าลำไย
การเตรียมพันธุ์ลำไย
เตรียมพันธุ์โดยวิธีการตอนกิ่ง ซึ่งควรเตรียมไว้ล่วงหน้า 1 ปี เพื่อจะได้ต้นกล้าลำไยที่แข็งแรง

ระยะปลูกลำไย
ระยะปลูกลำไยที่เหมาะสมควรอยู่ ระหว่างแถวและต้น 8x8 เมตร หรือ 10x8 เมตร ตามสภาพพื้นที่ หรือระยะ 7x5 เมตร ในกรณีที่มีการควบคุมทรงพุ่ม

วิธีปลูกลำไย
1.ขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 80x80x80 เซนติเมตร
2.รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้วอัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อหลุม โดยผสมกับหน้าดิน ใส่ลงหลุม พูนดินสูงจากปากหลุมประมาณ 15
เซนติเมตร
3.ก่อนปลูกทำหลุมเท่าถุงเพื่อวางชำต้นกล้าตัดรากที่ขดงอรอบๆ ถุงชำต้นกล้าทิ้งไป โดยเฉพาะบริเวณก้นถุงใช้มีดคมกรีดจากก้นถุงขึ้นมาปากถุงทั้งสองด้าน แล้วดึงถุงพลาสติกออกระวังอย่าให้ดินแตก กลบดินให้แน่น
4.ปักไม้หลักและผูกเชือกยึดต้นเพื่อป้องกันต้นกล้าโยกคลอนรดน้ำให้ชุ่ม
พรางแสงให้จนกระทั่งแตกยอดอ่อน 1 ครั้ง จึงงดการพรางแสง

อ้างอิงจาก:กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร ส่วนส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมการเกษตร
http://agritech.doae.go.th/agri-media