ลำไยปลอดสารพิษ

มาทำสวนลำไยปลอดสารพิษกันเถอะ

ลำไยชีวภาพ 
สถานการณ์ การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรในปัจจุบันค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รองลงมาก็คือเจ้าของสวนเอง ด้วยเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรก้าวหน้ามากขึ้น การผลิตสารกำจัดวัชพืช และสารกำจัดแมลงศัตรูพืชยี่ห้อใหม่ๆออกมาให้เห็นกันเกลื่อน ด้วยฤทธิ์ที่รุนแรงสามารถกำจัดหนอนหรือแมลงศัตรูพืชได้อย่างเฉียบพลัน ด่วนเร็วทันใจ แตกต่างจากสารชีวภาพที่สกัดได้จากสมุนไพรธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ทำให้แมลงศัตรูพืชตายลงทันที แต่จะบินหนีไปสุดท้ายก็กลับมาใหม่ แต่หากเปรียบเทียบระหว่างการฉีดพ่นสารกำจัดแมลง ที่จัดว่ามีฤทธิ์รุนแรง มีอันตรายโดยตรงต่อผู้บริโภคและผู้ใช้ เกิดสารตกค้างในสภาพแวดล้อม เป็นเหตุนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ กับการฉีดพ่นสารชีวภาพที่ไม่เป็นพิษต่อผู้ใช้และผู้บริโภค แถมยังช่วยรักษาสภาวะแวดล้อม ไร้ซึ่งมลภาวะพิษ ไม่มีสารตกค้างใดๆ แถมยังมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชอย่างมาก ถึงแม้ว่าเราจะฉีดพ่นหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อร่างกาย กลับไปเพิ่มความแข็งแรงสมบูรณ์ให้กับต้นพืช เพราะต้นไม้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิต เปรียบได้กับคนเรา เพราะหากเราดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ เป็นเกราะป้องกันอันตรายจากเชื้อไวรัสต่างๆที่เป็นสาเหตุของโรคได้ ส่วน“ต้นไม้” ที่เราปลูกก็ไม่แตกต่างกัน หากเราหมั่นบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ศัตรูต่างๆก็เข้าทำลายได้น้อยลง
สำหรับคนที่ทำเกษตรแบบชีวภาพวันนี้ ผมอยากจะแนะนำอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ไม่อยากใช้สารเคมี และไม่มีวัตถุดิบที่จะนำมาหมักเป็นสมุนไพรชีวภาพสำหรับฉีดพ่นกำจัดแมลงศัตรูพืช แนะนำให้ใช้สารกำจัดแมลงศัตรูพืชแบบชีวภาพ ที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช ซึ่งหาซื้อได้ที่ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ใกล้บ้านท่าน ราคาจะตกอยู่ประมาณลิตรละ 250 บาท ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ปลอดสารพิษปลอดภัยต่อผู้บริโภคและตัวคุณเอง แถมยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้ด้วยครับ


เทคนิคเพิ่มผลผลิตลำไย

ดูแลช่วงลำไยออกดอกอย่างถูกวิธี

บทความดีๆสำหรับคนทำสวน "ลำไย" ในวันนี้ ผมก็มีอีกหนึ่งเทคนิคดีๆ ที่นำมาฝากกันอีกเช่นเคยครับ เป็นเทคนิคดูแลช่วงที่ลำไยออกดอก และวิธีการตัดช่อผลลำไยเพื่อเพิ่มผลผลิต ให้ได้ลำไยเกรด A และเกรด B ที่ มีราคาสูง มาดูรายละเอียดกันครับ

การดูแลช่วงลำไยออกดอก : ถือว่าเป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างการติดผลและการทำลายของแมลงศัตรูของลำไย เกษตรควรหมั่นสำรวจการระบาดของโรคและแมลงในสวนลำไยเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการทำลายเพลี้ยไฟและโรคที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ หากเห็นว่าระบาดอย่างรุนแรงควรพ่นสารไล่แมลงที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น สารสะเดา หรือน้ำส้มควันไม้ แต่ควรพ่นในระยะที่ดอกยังไม่บานนะครับ เพราะหากเราพ่นสารกำจัดแมลงต่างๆในช่วงที่ดอกลำไยกำลังบาน อาจจะเป็นอันตรายต่อแมลงที่ช่วยผสมเกสรได้ และอีกช่วงระยะที่ต้องระวังก็คือช่วงที่ลำไยกำลังติดผล ให้ระมัดระวังแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งให้ดี ควรดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่ช่วงที่ลำไยติดผลเล็กๆ หมั่นฉีดพ่นสารไล่แมลงทุกๆสัปดาห์ก็จะสามารถป้องกันโรคและแมลงดังกล่าวได้ครับ

การตัดช่อผลลำไย : กรณีที่ลำไยที่เราปลูกเอาไว้ติดผลดกมากกว่า 80 ผลต่อช่อ แนะนำให้ตัดให้เหลือไม่เกิน 60 ผลต่อช่อครับ และควรตัดเมื่อลำไยขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ก็จะทำให้ผลลำไยมีขนาดโตขึ้น ผลลำไยมีความสมบูรณ์สม่ำเสมอ ได้ลำไยเกรด A และ เกรด B มาก สามารถขายได้ราคาสูง ได้เงินเข้ากระเป๋ามากตามมาด้วยครับ

ที่มา: สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 (ในวันและเวลาราชการ)


เทคนิคเพิ่มผลผลิตลำไย

ความต้องการน้ำและธาตุอาหารของ “ลำไย”

จากที่ห่างหายไปไม่นานเท่าไหร่ พอย่างเข้าหน้าฝน ผมก็มัวยุ่งอยู่กับการทำเกษตรหลายอย่างครับ แต่ก็มีโอกาสได้หวนกลับมาพบกันในโลกไซเบอร์อีกครั้ง สำหรับในวันนี้ผมก็มีอีกหนึ่งเทคนิคดีๆในการเพิ่มผลผลิตลำไยมาฝากกัน ซึ่งเป็นการดูแลต้นลำไยตามช่วงเลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำ ให้ปุ๋ยลำไยอย่างถูกต้อง อันจะนำมาซึ่งผลผลิตที่สมบูรณ์ มีรายละเอียดดังนี้ครับ

การให้น้ำลำไย : การให้น้ำแก่ต้นลำไย ระยะที่เราปลูกใหม่ๆ คือในช่วง 1- 2 ปีแรก ควรจะให้น้ำประมาณ 20-60 ลิตรต่อระยะ 4-5 วัน แต่สำหรับการให้น้ำแก่ต้นลำไยที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไปแล้วนั้น ให้เราพิจารณาจากความชื้นของดินเป็นหลักครับ สำหรับการทดสอบความชื้นของดินที่ผมใช้อยู่ก็เป็นเทคนิคง่ายๆ เฉพาะหน้าแล้งหรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วงนาน เพียงแค่ใช้จอบขุดเบาๆบริเวณแปลงปลูกห่างโคนต้นลำไยประมาณ 1 เมตร ลึกประมาณสองถึงสามข้อมือ หากเห็นว่าดินเริ่มแห้งก็จะให้น้ำประมาณสองสัปดาห์ต่อครั้ง โดยหาวัสดุมาคลุมโคนต้นลำไยเอาไว้ เช่น เศษฟางแห้ง หรือเศษกิ่งและใบลำไยที่เราตัดแต่ง จะช่วยเก็บความชื้นเอาไว้ได้ดี แถมยังย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นลำไยของเราอีกต่างหาก


การให้ปุ๋ยลำไย : ต้นลำไยที่เราปลูกจะมีการตอบสนองต่อปุ๋ยที่ให้แตกต่างกันครับ ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากสภาพดินของพื้นที่ปลูกลำไยที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นเราจะต้องมีการปรับลดหรือเพิ่มปริมาณปุ๋ยที่ควรให้กับลำไยในปีต่อไปตามความเหมาะสมด้วย แต่การให้ปุ๋ยลำไยหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจนถึงระยะก่อนออกดอกถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก และธาตุอาหารที่ลำไยต้องการมากในช่วงนี้คือธาตุอาหารหลักที่เรารู้จักกันดี อย่างเช่น ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เช่น ปุ๋ยสูตร 46-0-0 หรือสูตร 15-15-15 แต่ก็ควรเพิ่มปริมาณปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกรอบโคนต้นลำไยด้วยนะครับ เพื่อเป็นการปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดที่เกิดจากการตกค้างของปุ๋ยเคมีที่เราใส่ลงไป ส่วนการให้ปุ๋ยลำไยในระยะติดผลถึงเก็บเกี่ยว ให้เราดูจากปริมาณผลผลิตต่อต้นเป็นหลัก เช่น ถ้าต้นลำไยติดผลดกให้ผลผลิตมาก เราควรใส่ปุ๋ยปริมาณมากตามไปด้วย แต่ถ้าลำไยติดผลน้อย เราก็ควรลดปริมาณการให้ปุ๋ยลงด้วย เหตุผลก็เพราะว่าเราจะคำนวณจากปริมาณธาตุอาหารที่สูญเสียไปกับ "ผลผลิตลำไย" ในแต่ละรอบฤดูกาลนั่นเองครับ