ตัดแต่งกิ่งลำไยให้ถูกต้อง รองรับการผลิตลำไยนอกฤดู
ในการตัดแต่งกิ่งลำไยที่ถูกต้อง ควรตัดแต่งให้ได้เร็วที่สุดภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ที่เร็วและตอบสนองต่อการให้สารโพแทสเซียมคลอเรต
แนะนำ 3 รูปทรงคือ
1.ตัดแต่งกิ่งลำไยทรงสี่เหลี่ยม
การตัดแต่งกิ่งลำไยรูปทรงนี้ กระทำได้โดยกำหนดความสูงประมาณไม่เกิน
3 เมตร คือตัดกิ่งส่วนบนไม่ให้สูงเกิน 3 เมตร เสร็จแล้วตัดกิ่งด้านข้าง 4
ด้านเข้ามาประมาณ 20 เซนติเมตร
2. ตัดแต่งกิ่งลำไยทรงฝาชีหงาย
การตัดแต่งกิ่งลำไยรูปทรงนี้ จะตัดกิ่งกลางทรงพุ่มออกให้หมดเหลือเฉพาะกิ่งที่เจริญในแนวนอน
ความสูง 2-3 เมตร จากนั้นจะเกิดกิ่งกระโดงขึ้นตามกิ่งจำนวนมาก ข้อดีของการตัดแต่งกิ่งลำไยรูปทรงนี้ก็คือ
สามารถควบคุมความสูงให้อยู่ในระดับเดิมได้ทุกปี ผลผลิตลำไยที่ได้ก็มีคุณภาพ แต่ก็มีข้อที่ควรระวังด้วยนะครับ
เพราะหากลดความสูงลงมากผลผลิตจะลดลงด้วย และต้นลำไยจะมีอาการแตกของเปลือกที่กิ่งและลำต้น
ดังนั้นในปีแรกที่ตัดแต่งกิ่ง ควรทำในฤดูฝนและควรลดความสูงลงไม่เกินร้อยละ 30
ของความสูงของต้นเดิม
3.ตัดแต่งกิ่งลำไยทรงเปิดกลางทรงพุ่ม
คือให้ตัดกิ่งหลักที่อยู่กลางทรงพุ่มออก
2 - 5 กิ่ง เพื่อให้ต้นลำไยได้รับแสงมากขึ้น จากนั้นตัดกิ่งกระโดงหรือกิ่งน้ำค้าง
กิ่งที่ไม่ได้รับแสง กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ และกิ่งที่ถูกโรคหรือแมลงทำลาย และที่สำคัญควรตัดแต่งกิ่งให้เหลืออยู่ประมาณร้อยละ
60 ของทรงพุ่ม ข้อดีของการตัดแต่งรูปทรงนี้ก็ คือ จะช่วยชะลอความสูงของต้นลำไย โดยที่ผลผลิตไม่ลดลง
จากการทดลองและได้ข้อสรุปว่า
การตัดแต่งกิ่งแบบนี้
จะทำให้การใช้สารโพแทสเซี่ยมคลอเรต(สารกระตุ้นการออกดอกเพื่อผลิตลำไยนอกฤดู)
ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือลำไยออกดอกดีขึ้น ได้ผลผลิตสูง แต่ก็มีปัญหาที่ตามมาคือ
การให้สารดังกล่าวซ้ำในต้นเดิม ทำให้ลำไยออกดอกน้อยลงหรือไม่ออกดอกเลยก็มี
แสดงให้เห็นว่ามีการดื้อยาเกิดขึ้น ดังนั้นเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ควรแบ่งแปลงและให้สารโพแทสเซียมคลอเรตแก่ต้นลำไยแบบปีเว้นปี
ก็จะหมดปัญหาในเรื่องนี้ได้ครับ
ที่มา: เอกสารประกอบการอบรมเรื่อง
การผลิตลำไยให้ได้คุณภาพ โดย อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร 8 ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9
ในวันและเวลาราชการ.