เทคนิคเพาะเห็ดตับเต่า
ให้เกิดในสวนลำไย
เพาะเห็ดตับเต่าในสวนลำไย
ก้อนเชื้อเห็ดตับเต่า |
เห็ดตับเต่าเป็นเห็ดดำรงชีพแบบเอ็คโตมัยคอร์ไรซ่า(ectomycorrhiza)
คือจะอาศัยอยู่ร่วมกับรากพืชอาศัย ในที่นี้ขอพูดถึงต้นลำไยครับ เชื้อราเอกโตไมคอร์ไรซ่า
จัดเป็นราชั้นสูงซึ่งสามารถสร้างดอกเห็ดได้ดี โดยจะสร้างดอกเห็ดเหนือพื้นดินใต้ร่มไม้บริเวณรากของต้นไม้
ก่อนถึงผิวดินเล็กน้อย เห็ดที่เกิดเองในธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่แล้ว เกิดได้โดย 3 ปัจจัยหลัก คือ
1. โดยสปอร์ของเห็ดที่บานถูกฝนชะล้างไปสูต้นไม้อาศัย
2. โดยเส้นใยเห็ดราที่แตกแขนงไปในดิน แต่วิธีนี้ต้องมีพืชอาศัยชนิดเดียวกัน เกิดชิดติดกัน
และอยู่ข้าง ๆ กันด้วย
3. โดยสัตว์ หรือแมลงที่มากินดอกเห็ดเน่า แล้วนำสปอร์ของเห็ดติดไปแพร่ระบาดไปอยู่กับต้นไม้อาศัยในที่ห่างไกล
ใส่เชื้อเห็ดขณะยังเป็นต้นกล้า |
เพาะเห็ดตับเต่าในสวนลำไย
ส่วนการเพาะเห็ดตับเต่าให้เกิดในสวนลำไย
ก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ ก่อนอื่นให้เราจัดเตรียมเชื้อเห็ดก่อน
คือต้องรอช่วงหน้าฝนครับ จะหาเก็บดอกเห็ดแก่ตามธรรมชาติ หรือจะสั่งซื้อก้อนเชื้อเห็ดที่เขาทำใส่ขวดไว้แล้วก็ได้
(ผมสั่งซื้อจากศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย) เมื่อเราได้เชื้อเห็ดมาแล้ว ก็ทำตามขั้นตอนดังนี้เลยครับ
1. นำเห็ดบานที่กำลังเน่า
หรือก้อนเชื้อเห็ดที่ซื้อมาใส่ภาชนะเติมน้ำ แล้วขยี้ให้ละลายในน้ำให้เข้ากันดี
หรือจะนำไปปั่นก็ได้
2.
ใช้จอบขุดรอบโคนต้นลำไยห่างประมาณ 1 เมตร (ในกรณีลำไยโตแล้ว) ลึกลงประมาณครึ่งฝ่ามือ
เพื่อหารากฝอย เสร็จแล้วนำน้ำ ( ที่มีสปอร์ของเห็ด) ที่เตรียมไว้ ไปรดบริเวณโคนต้นลำไยหรือบริเวณที่ขุดไว้
แล้วเอาดินกลบตามเดิม และในช่วง 1 – 3 วันแรกหากไม่มีฝนตก ให้รดน้ำเช้า – เย็น หลังจากนั้นก็ไม่ต้องรดน้ำลำไยอีกเลย
เป็นอันเสร็จขั้นตอนครับ
เพียงเท่านี้ชาวสวนลำไย
ก็รอเก็บผลผลิตทั้งลำไยทั้งเห็ดตับเต่าขายกันได้เลยครับ
** ในกรณีที่มีต้นกล้าลำไย
ก็สามารถนำเชื้อเห็ดมาใส่ได้เลย การใส่เชื้อเห็ดตั้งแต่เป็นต้นกล้า
จะทำให้ลำไยโตไว ทนต่อโรค และทนแล้งได้เป็นอย่างดี **