วิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ลำไยแปรรูป

เก็บรักษาลำไยอบแห้งอย่างถูกวิธี สำไม่คล้ำ

   หากเรามีผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้ง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อลำไยอบแห้ง ลำไยอบน้ำผึ้ง ลำไยอบแกะเนื้อ หรือเนื้อลำไยย้อมสีแช่อิ่มอบแห้ง หากเก็บรักษาไม่ถูกวิธี ส่วนใหญ่แล้วจะมีสีเปลี่ยนไปจากเดิมครับ โดยสีของลำไยจะคล้ำและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนที่ปลูกลำไย หรือมีผลิตภัณฑ์ลำไยที่แปรรูปเก็บไว้ คงเคยประสบปัญหานี้อย่างแน่นอนครับ และในบทความนี้ผมก็มีสาระดีๆ มาฝากกันอีกเช่นเคยครับ เป็นวิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ลำไยแปรรูปทุกอย่าง ดังนี้ครับ 

ลำไยอบแห้ง
การเก็บรักษาลำไยอบแห้ง
ในการเก็บรักษาลำไยอบแห้งหรือผลิตภัณฑ์ลำไยแปรรูปทั่วไป โดยไม่ทำให้สีและคุณภาพอื่นเปลี่ยนไปจากเดิมนั้น เกษตรกรผู้ปลูกลำไยควรเก็บรักษาในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียส สำหรับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 23-30 องศาเซลเซียส ยังไม่มีบรรจุภัณฑ์ชนิดใดที่สามารถรักษาสีให้คงเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงได้ มีเพียงแต่บรรจุภัณฑ์บางชนิดที่มีคุณสมบัติที่สามารถรักษาสีได้ดีกว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น และจากการทดลองพบว่า บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับเนื้อลำไยอบแห้งที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง คือ ถุงร้อน รองลงมา คือ ถุงเย็นหนา และถุงเย็นบางในกล่องกระดาษ และอีกทางเลือกหนึ่งที่อยากแนะนำก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีการเติมสารดูดออกซิเจนภายใน ซึ่งบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาสีของผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งได้ ซึ่งจะทำให้สีของลำไยเปลี่ยนแปลงช้าลงมาก ซึ่งบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการทดลองเป็นที่เรียบร้อยแล้วพบว่า เนื้อลำไยอบแห้งที่เก็บในถุงสุญญากาศที่มีสารดูดออกซิเจนสามารถรักษาสีผลิตภัณฑ์ได้ดีกว่าถุงร้อนและถุงเคลือบที่มีสารดูดออกซิเจนเมื่อเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยสีจะใกล้เคียงกับลำไยอบแห้งที่เก็บอยู่ที่อุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

   ด้วยสาระดีๆ ในการเก็บรักษาผลผลิตลำไยแปรรูปที่นำมาฝากกันในบทความนี้ หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยหรือคนทั่วไปไม่มากก็น้อยนะครับ และในบทความต่อๆ ไปผมก็จะพยายามสรรหาสาระดีๆ แบบนี้มากฝากกันอีกเช่นเคยครับ

ที่มา: สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่

13 ถนนอารักษ์ ซอย 5 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200