เทคนิคเพิ่มผลผลิตลำไย โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี



เพิ่มผลผลิตลำไย
อีกหนึ่งสาระและบทความดีๆในการเพิ่มผลผลิตลำไยในวันนี้ ผมขอนำเสนอเรื่องราวของอีกหนึ่งปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ที่พลิกผืนดินลูกรังให้เป็นผืนป่าเขียวขจี อุดมไปด้วยไม้ผลนานาชนิดโดยเฉพาะลำไย ซึ่งเกษตรกรที่ว่านี้คือ นายสุรัตน์ รุกขรัตน์  หมอดินอาสาประจำตำบลป่าไผ่ บ้านเลขที่ 41/2 ม.9 ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน มีประสบการณ์ การปลูกลำไยตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งลำไยที่ปลูกล้วนมีผลโต ติดผลดก และมีรสชาติดีมาก จนแทบไม่ต้องนำไปเร่ขายเหมือนสวนอื่นๆ ซึ่งแนวทางการปรับปรุงบำรุงดินของคุณสุรัตน์ ก็คือ ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะหว่านปอเทืองและปลูกแฝกเป็นแนวครึ่งวงกลมรอบทรงพุ่มลำไย พอเมื่อปอเทืองออกดอกก็จะทำการไถกลบลงไปในดิน หรือไม่ก็ตัดปอเทืองมาคลุมไว้ที่โคนต้นลำไย หลังจากนั้นก็จะฉีดพ่นรอบทรงพุ่มลำไยด้วยฮอร์โมนไข่ในปริมาณ 200 ซีซี ผสมกับน้ำหมักชีวภาพที่หมักด้วยสารเร่ง พด.2 จำนวน 4 ลิตร และน้ำสมุนไพรที่หมักด้วยสารเร่ง พด. 7 จำนวน 1 ลิตร กับน้ำ 200 ลิตร ทุกๆ 10 วัน จนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม และจะฉีดพ่นด้วยน้ำหมักสมุนไพรกระตุ้นตาดอก 2 ครั้ง หรือจนกว่าลำไยจะเริ่มแตกตาดอกออกมา คือราวๆเดือนมกราคม โดยการฉีดพ่นด้วยสารที่ใช้ผสมคือ คลอเรท ในปริมาณ 40 กรัม น้ำหมักจากสารเร่ง พด.2 จำนวน 400 ซีซี และน้ำสมุนไพรที่หมักจากสารเร่ง พด.7 จำนวน 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้น 7 วัน/ครั้ง

การดูแลระยะออกดอกของ “ลำไย”

ส่วนในระยะออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย จะฉีดพ่นด้วยน้ำหมักจากสารเร่ง พด.2 และน้ำสมุนไพรจากสารเร่ง พด.7 อย่างละ 200 ซีซี ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ทุกๆ 10 วัน

วิธีป้องกันแมลงในสวนลำไยแบบชีวภาพ

ในการป้องกันแมลงต่างๆที่จะมาทำลายผลผลิตลำไย คุณสุรัตน์จะใช้น้ำส้มสายชู 5% จำนวน 300 ซีซี ผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี 300 ซีซี ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มของลำไย ส่วนบริเวณพื้นดินรอบโคนต้น จะฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพ ที่หมักจากสารเร่ง พด.2 จำนวน 2 ลิตร และน้ำสมุนไพรที่หมักด้วยสารเร่ง พด.7 จำนวน 2 ลิตร ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเดือนละ 1-2 ครั้ง
ซึ่งจากการปฏิบัติดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างของดินปลูกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ดินมีความชื้นสูง ไม่มีสารเคมีตกค้าง และได้ผลผลิตลำไยมีคุณภาพ และที่สำคัญก็คือ ทำให้ลำไยในสวนของคุณสุรัตน์มีผลใหญ่และดกมาก แถมยังได้ลำไยคุณภาพขนาดจัมโบ้มากกว่า 70% จนทำให้มีแม่ค้ามาแย่งกันซื้อถึงสวนเลยทีเดียวครับ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก: คุณสุรัตน์ รุกขรัตน์ หมอดินอาสาประจำตำบลป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน 083-213-3227
อ้างอิงจาก: หนังสือภูมิปัญญาเกษตรอินทรีย์ ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง (จัดทำโดยกรมพัฒนาที่ดิน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น